“ถนนยางพารา” เพิ่มเม็ดเงินชาวสวนยาง เพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่

                          "ถนนยางพารา” เป็นอีกหนึ่งมาตรการในการส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ เมื่อปริมาณความต้องการใช้น้ำยางซึ่งเป็นวัตถุดิบในการสร้างถนนยางมีมากขึ้น ย่อมส่งผลไปถึงรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า"การสร้างถนนยางพาราโดยใช้ยางมะตอยผสมกับยางพารา(น้ำยางข้น) 5% ของยางมะตอย สามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศไทยได้ ซึ่งการทำถนนยางพาราระยะทาง 1 กิโลเมตร ความกว้างถนน 12 เมตร (ตามมาตรฐานของกรมทางหลวง) ความหนา 5 เซนติเมตร ต้องใช้ปริมาณเนื้อยางแห้ง 3.6 ตัน ซึ่งหมายถึงจะต้องใช้น้ำยางข้นในปริมาณ 6 ตัน มาเป็นส่วนผสม”
                         "แล้วถนนยางพาราระยะทาง 1 กิโลเมตร จำต้องใช้ปริมาณน้ำยางสดมากแค่ไหนมาเป็นวัตถุดิบ?”.... หากลองคำนวณจะพบว่า น้ำยางสด 100 กิโลกรัม นำมาแปรรูปเป็นน้ำยางข้นได้ 43 กิโลกรัม (อ้างอิงข้อมูลจากกองจัดการโรงงาน 2 การยางแห่งประเทศไทย) ดังนั้น ต้องน้ำยางสดปริมาณ 13,953.5 กิโลกรัมต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร และเมื่อนำน้ำยางสดในปริมาณดังกล่าว มาคำนวณเป็นจำนวนเงินที่เกษตรชาวสวนยางมีโอกาสได้รับจากการขายน้ำยางสดเพื่อนำไปทำถนนยางพารา เมื่อกำหนดราคารับซื้อน้ำยางสด กิโลกรัมละ 46.50 บาท (อ้างอิงราคายางจากตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ วันที่ 30 มิถุนายน) ชาวสวนยางจะได้รับเงินจากการขายน้ำยางสดที่มีค่า DRC 30% เป็นเงินประมาณ 194,651.30 บาทต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร
                          นายสินชัย เจนพิชิตกุลชัย ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย จ.จันทบุรี กล่าวว่า "เห็นด้วยและดีใจที่สามารถนำยางพาราไปทำถนนได้ และอยากให้มีการทำถนนยางพาราอย่างจริงจัง” การนำยางพาราไปผสมทำถนนสามารถช่วยกระตุ้นราคายาง เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้น และทราบว่าการนำยางพาราไปผสมช่วยให้ถนนมีคุณภาพที่ดีกว่าเดิม ถือเป็นการนำวัตถุดิบมาแปรรูปใช้ในประเทศ ย่อมดีกว่าส่งวัตถุดิบออกต่างประเทศเพียงอย่างเดียว แม้ต้นทุนในการทำถนนยางพาราจะสูงขึ้น แต่อย่างน้อยเงินก็ยังหมุนเวียนภายในประเทศ
                          การสร้างถนนยางพาราไม่เพียงเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อเปรียบเทียบระหว่างถนนยางพารา กับถนนแอสฟัลต์คอนกรีตทั่วไป แน่นอนว่า ถนนผสมยางพารามีประสิทธิภาพที่ดีกว่า (อ้างอิงจากผลวิจัยของกรมทางหลวง)
                          นางณพรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ถนนยางพารามีค่าความอ่อนตัวสูงกว่า จึงทนทานต่อความร้อนได้มากกว่า ประมาณ 48 % ดังนั้น ถนนผสมยางพาราจึงมีความทนทานและแข็งแรง นอกจากนี้ ถนนยางพารายังมีคุณสมบัติช่วยลดการลื่นไถลของยานพาหนะ จากการทดสอบค่าการลื่นไหลของถนนยางพารามีน้อยกว่า มีความฝืดมากขึ้น ช่วยลดการลื่นไถลได้ และมีความต้านทานการเกิดร่องล้อ จึงช่วยให้การขับขี่มีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย”
                           "ถนนยางพารา” แนวทางที่ตอบโจทย์การส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ สามารถช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้ชาวสวนยางในสถานการณ์ราคายางปัจจุบัน รวมถึงประสิทธิภาพและการเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนที่ยืนยันจากผลงานวิจัยที่ผ่านมา คงเหลือเพียงการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องร่วมดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม.
 
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
 มัณฑนารัตน์ ศิริประทุม ข่าว
« Back