การยางแห่งประเทศไทย
w3c Facebook การยางแห่งประเทศไทย English

EN

Chinese

CN

สร้างเสถียรภาพราคายางพารา
สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2560

วันที่ 20 ธ.ค. 2560
 
วันที่มีมติ 13/06/2560
เรื่อง สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2560
คณะรัฐมนตรีมีมติ
๑. รับทราบสรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๐ ที่ให้ความเห็นชอบ (๑) การขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา (๒) การดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (เพิ่มเติม) (๓) การขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางและโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง และ (๔) การดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง
๒. เห็นชอบและอนุมัติตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้
๒.๑ เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพาราเป็นระยะเวลา ๓ ปี (วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๐-๓๑ มีนาคม ๒๕๖๓) โดยดำเนินโครงการภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อเดิม ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท และให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รับผิดชอบโครงการแทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยภาครัฐจะชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๓ ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับเงื่อนไขโครงการเดิม โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามรายจ่ายจริงที่จะเกิดขึ้น โดยไม่รวมรายจ่ายชำระต้นเงินกู้และไม่รวมถึงการชดเชยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ ๐.๓๖ ต่อปี จำนวน ๓๖ ล้านบาท นั้น เห็นควรให้ กยท. นำเงินกองทุนพัฒนายางพารา ตามนัยมาตรา ๔๙ (๓) แห่งพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘ มาสนับสนุนค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันดังกล่าวในโอกาสแรกก่อน
๒.๒ เห็นชอบให้ดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (เพิ่มเติม) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน ๑๑,๔๖๐ ครัวเรือน ซึ่งอยู่ภายในกรอบวงเงินการช่วยเหลือเดิมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ โดยเห็นควรให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน ๙๐ วันนับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
๒.๓ เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ซึ่งคงเหลือ ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐ จำนวน ๒๘,๑๗๔.๘๖๙ ล้านบาท ให้กับ ธ.ก.ส. ออกไปอีก ๓ ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เป็นสิ้นสุดวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ และยกเว้นค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันเงินกู้ โดยให้กระทรวงการคลังขยายระยะเวลาการค้ำประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ออกไปตามระยะเวลาการขยายชำระเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. พร้อมชดเชยต้นทุนเงินในอัตราดอกเบี้ย FDR+1 ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรเร่งรัดดำเนินโครงการให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการและภาระค่าชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้
๒.๔ อนุมัติให้ดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงินสินเชื่อ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐ จนถึงเดือนเมษายน ๒๕๖๒ โดยภาครัฐจะชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงไม่เกินร้อยละ ๓ ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กยท. หารือกับกระทรวงการคลังเพื่อมอบหมายธนาคารของรัฐทำหน้าที่เป็นหน่วยรับจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยดอกเบี้ยแทนธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ และให้กระทรวงการคลังขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นต่อไป โดยไม่รวมรายจ่ายชำระต้นเงินกู้และไม่รวมถึงการชดเชยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
๒.๕ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำผลการติดตามและประเมินผลโครงการรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ ๆ ด้วย
๓. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เห็นควรเร่งระบายสต็อกและส่งมอบยางพาราตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางและโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงภาระงบประมาณที่เกี่ยวข้อง และเร่งปิดบัญชีโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางและโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรราคายางเพื่อขอจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยผลขาดทุนภายใต้โครงการทั้งสอง รวมทั้งควรมีการติดตามและสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรสามารถแปรรูปและระบายผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อเร่งชำระหนี้คืนให้เสร็จสิ้นภายใน ๓ ปี เพื่อมิให้ภาครัฐต้องมีภาระการชดเชยดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และมีการติดตามผลการรับซื้อยางของผู้ประกอบการยางอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการและปรับปรุงแนวทางการดูดซับอุปทานส่วนเกินในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับกรณีเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่ได้มาแจ้งเข้าร่วมโครงการภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้ได้รับโอกาสเช่นเดียวกับเกษตรกรชาวสวนยางและแรงงานกรีดยางในช่วงที่ผ่านมา นั้น ควรยึดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม นอกจากนี้ ควรเร่งหาตลาดหรือมาตรการเสริมอื่น ๆ เพื่อให้สามารถระบายสต็อกยางทั้งหมดในช่วงเวลาที่เหมาะสมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
 
แหล่งข่าว : www.cabinet.soc.go.th
 
สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - การยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand)
เลขที่ 67/25 ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร 0-2433-2222 ต่อ 222,296 Email: saraban@raot.mail.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนตัว

WCAG 2.0 (Level AA)

จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์