ยางตายเป็นปัญหาต่อเนื่องในวงการการแปรรูปยางดิบ โดยเฉพาะในโรงงานยางแท่งที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมยางแท่งและผลิตภัณฑ์ยางแห้งทุกชนิด เมื่อเร็ว ๆ นี้มีประเด็นข่าวเรื่องยางตายที่สร้างความเสียหายให้แก่โรงงานยางแท่ง ซึ่งไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในวงการยางแท่งไทย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานและยากที่จะแก้ไข หากทุกส่วนมีความเข้าใจและจิตสำนึกถึงผลร้ายแรงที่ตามมา ก็จะสามารถยับยั้งหรือไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกต่อไป
ในการผลิตยางแท่ง STR20 วัตถุดิบที่นำมาผลิตประกอบด้วย ยางแผ่นดิบ ยางก้อนถ้วยคุณภาพดี ยางคัตติ้งและเศษยางที่เป็นยางก้นถ้วย ยางเส้นจากรอยกรีด ยางก้อนถ้วยคุณภาพต่ำ เป็นต้น ในเศษยางเหล่านี้มีสิ่งสกปรกเช่น ทราย ดิน กรวด ก้อนหิน และสิ่งปลอมปนที่มักเป็นเศษเหล็ก เศษไม้ พลาสติก เชือกฟาง กระสอบปุ๋ย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมียางตายที่สร้างปัญหาอันยิ่งใหญ่ในกระบวนการผลิต
ยางตายคืออะไร
ยางตายคือยางที่ผ่านการวัลคาไนซ์ (Vulcanised rubber) หมายถึงยางที่มีการผสมสารเคมีจนโครงสร้างภายในโมเลกุลเปลี่ยนรูป ถือว่าไม่ใช่ยางดิบจึงไม่สามารถผสมเข้ากับยางดิบเป็นเนื้อเดียวกันได้ ส่วนใหญ่มาจากเศษยางที่จับตัวแห้งในแกลลอนที่ส่งน้ำยางไปยังโรงงานน้ำยางข้น เศษถุงมือ ยางหัวโบล์วหรือยางที่ติดบริเวณแกนปั่นน้ำยางข้น เศษยางที่เหลือจากการผลิตยางฟองน้ำ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งจากยางแห้งและจากน้ำยาง โดยที่โรงงานไม่ได้จัดเก็บและมีวิธีการกำจัดที่ดีพอ จึงถูกนำมาปะปนรวมกับเศษยางส่งต่อไปยังโรงงานยางแท่ง ที่สร้างความเสียหายในกระบวนการผลิต
ในส่วนของน้ำยางสดที่ส่งต่อไปยังโรงงานน้ำยางข้น จะมีการใช้สารรักษาสภาพเพื่อป้องกันน้ำยางบูดคือ ทีเอ็มทีดี (Tetramethylthiuram disulphide) และ ซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide) ซึ่งสารทั้งตัวนี้ทำให้โครงสร้างภายในยางธรรมชาติเปลี่ยนเป็นยางตายได้
บางรายทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นยางที่ผสมสารเคมีแล้วก็ยังนำมาขายส่งให้พ่อค้าคนกลางรวบรวมส่งโรงงานยางแท่งอีกทอดหนึ่งและยังพบการนำผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้งานแล้วมาห่อหุ้มด้วยยางดิบนำมาปะปนกับเศษยางดิบเพื่อนำมาจำหน่าย หรือนำน้ำยางจากพืชอื่นที่มีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างจากยางดิบ เช่น ต้นตีนเป็ด มาผสมรวมกัน
วิธีการสังเกตและตรวจสอบยางตาย
ให้สังเกตตามรูปร่างลักษณะ น้ำหนักและสีของเศษยาง อาจทำการผ่าหรือเหยียบเพื่อตรวจสอบความยืดหยุ่นหรือสิ่งผิดปกติที่แตกต่างจากยางดิบทั่ว ๆ ไป การตรวจสอบยางตายทำได้โดยนำเศษยางมาตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ แช่ในโทลูอีน 100 มิลลิลิตร นานประมาณ 2 วัน หากเป็นยางดิบจะพองและละลายหมดในที่สุด แต่หากเป็นยางตายจะไม่ละลายในโทลูอีน
ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างร้ายแรง
ยางตายที่ปะปนกับยางแท่งเมื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ส่วนที่เป็นยางตายจะไม่สามารถผสมรวมกับเนื้อยางและสารเคมีได้ หากนำไปขึ้นรูปเป็นยางล้อส่วนที่เป็นยางตายบริเวณนั้นจะไม่ประสานเข้าด้วยกันเมื่อนำไปใช้งานล้อยางจะเกิดการระเบิดได้ และส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานโดยตรง ทางโรงงานจึงมีมาตรการปรับหากมีการตรวจพบยางตายเป็นเงินถึงชิ้นละ 10,000 บาท และห้ามมิให้ผู้นั้นนำยางมาจำหน่ายอีก แต่ค่าปรับที่ได้ก็ไม่คุ้มกับยางที่มีการปะปนยางตายและภาพลักษณ์ของบริษัทที่มีผลต่อชื่อเสียงในภาพรวมระดับประเทศ
แนวทางการแก้ปัญหา
1. รณรงค์สร้างจิตสำนึกแก่ผู้ที่เกี่ยงข้อง โดยการประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น
2. ทำความเข้าใจและตรวจสอบร้านค้าที่รับซื้อวัตถุดิบไม่ให้รับซื้อยางที่ปลอมปน หากมีการรับซื้อให้พิจารณาโทษตาม พ.ร.บ. 2542 หากผู้ที่มีส่วนร่วมทั้งหมดช่วยการรณรงค์และใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด จะสามารถรักษาคุณภาพยางแท่งไทยไว้ได้ตลอดไป |