การยางแห่งประเทศไทย
w3c Facebook การยางแห่งประเทศไทย English

EN

Chinese

CN

ข่าวสาร กยท. >> ข่าวประชาสัมพันธ์การยาง
กยท. ผนึกหน่วยงานรัฐฯ เร่งสนองนโยบายเพิ่มยอดใช้ยางในประเทศ หนุนชาวสวนยางทำเกษตรผสมผสาน พร้อมส่งเสริมแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า

วันที่ 25 ก.ค. 2560

             การยางแห่งประเทศไทยผนึกกำลังร่วมหน่วยงานภาครัฐ เร่งสนองนโยบายรัฐบาลเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศต่อเนื่องปี 61 มุ่งสนับสนุนเกษตรกรปลูกยางแบบเกษตรผสมผสาน พร้อมทั้งดำเนินการส่งเสริมเกษตรกร – สถาบันเกษตรกรหันมาแปรรูปยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
             ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีประเด็นการแก้ปัญหายางพาราของประเทศว่า รัฐบาลมีการประกาศนโยบายอย่างชัดเจน โดยในระยะเร่งด่วน ปีงบประมาณ 2560 (ก.ค.- ก.ย.60) มีปริมาณความต้องการนำยางไปใช้งานในหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งสิ้นประมาณ 22,000 ตัน จำนวนนี้รวมความต้องการใช้ยางจากกรมชลประทานที่ได้ดำเนินการรับมอบยางจากสต็อกของ กยท. ที่รับซื้อจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง เพื่อนำไปใช้ในโครงการแล้ว จำนวน 100 ตัน กรมปศุสัตว์ จำนวนประมาณ 1,272.60 ตัน กรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวนประมาณ 231 ตัน กรมประมง จำนวนประมาณ 165.79 ตัน เป็นต้น โดยปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้มีการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นนั้นจำเป็นต้องมีงบประมาณที่เพียงพอ บางหน่วยงานไม่มีงบประมาณรองรับ ต้องขอสนับสนุนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2560 ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่ในระยาว กยท.จะทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่จะนำยางไปใช้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะช่วยผลักดันให้มีการนำยางไปใช้ในปริมาณมากขึ้น ทั้งนี้ จะทราบปริมาณความต้องการใช้ยางของหน่วยงานต่างๆ ของปีงบประมาณ 2561 ได้ประมาณต้นเดือนสิงหาคมนี้
         ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางควบคู่ที่ กยท. ส่งเสริมและผลักดันเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงที่ราคายางผันผวน คือ การส่งเสริม สนับสนุน ให้เกษตรกรปลูกยางควบคู่กับการปลูกพืชแซมยางและพืชร่วมยางมาโดยตลอด เพื่อเป็นรายได้ระหว่างรอผลผลิต และเป็นรายได้หมุนเวียนให้เกษตรกรนอกเหนือจากยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งชาวสวนยางที่ต้องการโค่นยางเพื่อปลูกแทน หันมาเลือกปลูกยางแบบผสมผสานตามหลักเกณฑ์ที่ กยท. กำหนด โดยให้เกษตรกรลดจำนวนต้นยางในสวนยางลง จากเดิมที่ปลูกลักษณะพืชเชิงเดี่ยว ต้องมีต้นยาง 60-70 ต้น/ไร่ ปรับเหลือไม่น้อยกว่า 40 ต้น/ไร่ โดยรับทุนปลูกแทนอัตราเดิม (ไร่ละ 16,000 บาท/ปี) เพื่อให้เกษตรกรมีพื้นที่ว่างระหว่างต้นยางไว้สำหรับปลูกพืชหรือทำกิจกรรมทางการเกษตรอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประมงหรือปศุสัตว์ เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเลือกปลูกแทนแบบผสมผสานแล้วรวม 1,776 ราย คิดเป็นพื้นที่จำนวนรวมเกือบ 18,000 ไร่ รวมถึงการดำเนินงานตามมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราระยะยาวของรัฐบาล โดยการ "ควบคุมปริมาณการผลิต” ที่กำหนดเป้าหมายลดพื้นที่ปลูกยางจำนวน 400,000 ไร่/ปี เพื่อให้เกษตรกรปลูกแทนยางด้วยไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดอื่น จะช่วยพยุงราคายางภายในประเทศ ซึ่งในปี 2561 กยท. มีนโยบายจะลดพื้นที่ปลูกยางถาวรเพิ่มเติม โดยปรับเป้าหมายลดพื้นที่ปลูกยางถาวรจาก 100,000 ไร่ เป็น 200,000 ไร่ เพื่อลดปริมาณยางพาราที่จะออกสู่ตลาด สร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานโลก
          ดร.ธีธัช กล่าวย้ำว่า ในขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา กยท.ทำงานเชิงรุกตามวัตถุประสงค์ที่ พรบ.กยท.พ.ศ.2558 ได้กำหนดไว้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันให้ประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งให้เกิดการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางให้มากขึ้น โดยการส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกยางรวมตัวเป็นกลุ่ม เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ ยกระดับจากเกษตรกรรายย่อยมาเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยางที่ไม่มุ่งเน้นเพียงแค่การผลิตวัตถุดิบส่งขาย ขณะเดียวกันลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ โดยการแปรรูปใช้ในประเทศให้มากขึ้น ภายใต้การสนับสนุนจาก กยท. ซึ่งมีความพร้อมที่จะให้การส่งเสริม สนับสนุนทั้งในส่วนของความรู้และทุน หากเป็นเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย สามารถยกระดับตนเองโดยเป็นผู้ประกอบกิจการยาง ประเภทบุคคลธรรมดาได้ หรืออาจจะรวมรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการยางประเภทหนึ่งโดย กยท. มีเงินทุนสนับสนุนในรูปแบบของเงินกู้ตาม พ.ร.บ.กยท. พ.ศ.2558 ในมาตรา 49 (3) และหากเกษตรกรชาวสวนยางที่มีการรวมกลุ่ม สามารถจดทะเบียนเพื่อเป็นสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในรูปของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางหรือสหกรณ์ เพื่อนำผลผลิตมาแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดย กยท.มีทั้งเงินทุนอุดหนุนประมาณปีละ 500 ล้านบาท พร้อมทั้งทุนสนับสนุนในรูปแบบของเงินกู้อีกประมาณ 2,500 กว่าล้านบาท เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ปลูกยางพารามีรายได้ มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
        อย่างไรก็ตาม กยท.มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนายกระดับเกษตรกรผู้ปลูกยางมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง กยท.มีหลักสูตรและนักวิชาการที่ลงไปถ่ายทอดองค์ความรู้ในพื้นที่ โดยใช้เงินกองทุนพัฒนายางพารา ไม่ว่าการให้ความรู้ในเรื่องของการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง หรือด้านอุตสาหกรรมยาง เช่น หลักสูตรการผลิตหมอนยางพารา ที่นอนยางพารา หรืออื่นๆ เพื่อสร้างกลุ่มผู้ประกอบกิจการยางให้มีการนำยางพาราไปใช้ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ยางมากขึ้น ตลอดจนการหาช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือและผลักดันให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางสามารถดำเนินธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเอง สังคมชาวสวนยาง และประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการหาตลาดรองรับศักยภาพของเกษตรกรชาวสวนยางที่พัฒนาตนเองมาเป็นผู้ประกอบการ โดยการส่งเสริมให้มีช่องทางการจำหน่ายในประเทศ กยท.จึงผลักดันรณรงค์ให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ยาง ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานราชการเท่านั้น แต่เป็นการผลักดันไปยังภาคเอกชนหรือประชาชนให้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางด้วย โดยการร่วมกันใช้ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากยางพารา ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มากมายที่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมกว่า 170 ชนิด
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์การยางฯ
 
สงวนลิขสิทธิ์ 2559 - การยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand)
เลขที่ 67/25 ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร 0-2433-2222 ต่อ 222,296 Email: saraban@raot.mail.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนตัว

WCAG 2.0 (Level AA)

จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์