"รัฐมนตรีกฤษฏา” งัดไม้เด็ด ส่งท้ายรัฐบาลลุงตู่ ขอความร่วมมือองค์ปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทำถนนดินผสมยางพาราแทนถนนลูกรัง 300,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ พร้อมสั่ง กยท. ทำแผนลดพื้นที่สวนยางปีละ 500,000 ไร่เพื่อให้ผลผลิตยางในอนาคตมีไม่เกินปีละ 4 ล้านตัน รักษาสมดุลอุปสงค์-อุปทาน มั่นใจ อนาคตราคายางพาราไทยมีเสถียรภาพแน่นอน
เมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 ราคายางพาราต่ำเตี้ยเรี่ยดิน โดยยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ประมาณกิโลกรัมละ 30 กว่าบาท จนเกษตรกรร้องว่า "ยางพารา 3โล100 ไม่สามารถอยู่ได้” แม้ว่า คสช. จะใช้อำนาจยุบหน่วยงานองค์กรยางจาก 3 หน่วยเดิมได้แก่ องค์กรสวนยาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรเป็น "การยางแห่งประเทศไทย” (กยท.) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งหวังให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพกว่าเดิม ถึงกระนั้นราคายางก็ยังไม่มีท่าทีที่จะขยับขึ้น กระทั่งใช้วิธีพยุงราคายางโดยร่วมกับประเทศผู้ส่งออกยางพาราอินโดนีเซียและมาเลเซียในเวทีสภาไตรภาคียาง ใช้มาตรการจำกัดการส่งออก (AETS) หวังผลลดปริมาณยางในตลาดโลกเหมือนโอเปกลดการผลิตน้ำมัน ก็ไม่สามารถทำให้ราคายางปรับสูงขึ้นได้
จวบจนนายกรัฐมนตรีตัดสินใจปรับครม. ครั้งสุดท้ายเมื่อพฤศจิกายน 2560 ได้เสนอชื่อ"นายกฤษฎา บุญราช” มาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่านายกฤษฎา บุญราชนั้น ตั้งแต่เป็นปลัดอำเภอจนถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็น "ผู้บริหารขาบู๊ สู้ไม่ถอย" จึงไม่รอช้าลงมือแก้ปัญหาทันที เริ่มแรกมีแนวคิดลดปริมาณยางด้วยการสั่งตัดต้นยางออก 2 ล้านไร่ปรากฏว่า มีทั้งเสียงเชียร์และค้าน ดังนั้นจึงเปลี่ยนวิธีการใหม่โดยใช้นโยบาย "ตลาดนำการผลิต” แล้วเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดงานจับคู่ธุรกิจ (Business Matching)ที่จังหวัดกระบี่และจังหวัดตรังในโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทย ระหว่างผู้ประกอบกิจการยางพาราจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงกลุ่มประเทศตลาดใหม่ ได้แก่ เม็กซิโก เกาหลีใต้ ศรีลังกา อินเดีย ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และอิหร่าน เป็นต้น กับกลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 30 สถาบันส่งผลให้มีการสั่งซื้อยางจากกลุ่มสถาบันเกษตรกรและกยท. คิดเป็น 57% ของจำนวนบริษัททั้งหมดที่เข้าร่วมการจับคู่เจรจาธุรกิจ สั่งจองยางหลายประเภท ได้แก่ น้ำยางข้น ยางเครปขาว ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง เป็นต้น รวมปริมาณกว่าเดือนละ 58,000 ตัน หรือ 696,000 ตันต่อปี นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง แล้วสั่งการให้ทูตเกษตรในต่างประเทศติดตามสถานการณ์ยางโลกโดยใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราทุกระยะ
หลายปีมานี้ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรที่ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ผลผลิตยางพาราเฉลี่ย 4.5 ล้านตันต่อปี ใช้ในประเทศเพียงปีละ 500,000 ตันเท่านั้น ที่เหลือส่งออกโดยไทยเป็นผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก แต่ในปี 2556 ประเทศผู้ปลูกยางพารารายใหม่เริ่มส่งออกมากขึ้น จนสต็อกยางในตลาดโลกมีปริมาณมากส่งผลให้ราคาตกต่ำ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศจึงหันไปใช้ยางสังเคราะห์ที่ทำจากน้ำมันแทนการใช้ยางธรรมชาติเพราะราคาถูกกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลยังพบว่า ยางที่ส่งออกประมาณ 4 ล้านตันต่อปีนำรายได้เข้าประเทศ 500,000 ล้านบาทนั้น ส่งออกโดยแปรรูปเป็นยางวัตถุดิบได้แก่ ยางแท่ง ยางก้อน และน้ำยางข้นถึง 85% มูลค่า 250,000 บาท ส่วนอีก15% แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ได้มูลค่า 250,000 เท่ากันกับยางวัตถุดิบจึงนำไปสู่แนวคิดที่ว่า หากส่งเสริมการใช้ยางในประเทศมากขึ้นโดยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ลดปริมาณการส่งออกยางวัตถุดิบ แล้วนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จะเพิ่มมูลค่าแก่ยางพาราได้หลายเท่าตัว
แนวทางที่นายกฤษฎาดำเนินการส่งเสริมให้มีการแปรรูปยางภายในประเทศหรือเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ไม่ได้พึ่งการส่งออกเพียงอย่างเดียวคือ ในปี 2561-2562 เริ่มด้วยการขอความร่วมมือกระทรวงการคลังจัดแคมเปญส่งเสริมการใช้ยางล้อที่ผลิตด้วยยางพาราในประเทศเพื่อนำไปลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งประชาชนสนใจนำรถไปเปลี่ยนยางล้อจากผู้ผลิตที่ร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ควบคู่กับนโยบายส่งเสริมการนำยางพาราไปแปรรูป นอกจากยางล้อแล้ว ยังมีถุงมือยาง รองเท้าเครื่องนอน สายพานลำเลียง แผ่นรองรางรถไฟ ท่อยาง อุปกรณ์จราจร บล็อคตัวหนอนสำหรับปูพื้นสนามกีฬา สนามเด็กเล่น และทางเท้า เป็นต้น โดยจูงใจทั้งบริษัทสัญชาติไทยและบริษัทจากต่างประเทศให้ลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งรัฐจะมอบสิทธิประโยชน์ให้ในลักษณะเดียวกับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
รัฐมนตรีเกษตรฯ ระบุว่า โครงการสร้างทำถนนพาราซอยซีเมนต์นั้นมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจน ขณะนี้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศได้อนุมัติเทศบัญญัติและข้อบัญญัติจังหวัดงบประมาณปี 2562 เพิ่มเติมให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลสามารถใช้งบท้องถิ่นทำถนนพาราซอยซีเมนต์ในพื้นที่ชนบทได้แล้ว ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินมาตรการระยะกลางและระยะยาวเพื่อกระตุ้นราคายางโดยเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศ ที่สำคัญคือ โครงการสร้างถนนผสมยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ความยาวถนนดินลูกรังที่อยู่ในแผนปรับเป็นถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราไร้ฝุ่นระยะทางยาง 300,000 กิโลเมตร ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะทยอยจัดทำถนนผสมยางแทนถนนลูกรังปีละ50,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ถนน 1 กิโลเมตรใช้ยางพารา 1.3 ตัน จึงคาดว่า ปริมาณการใช้ในโครงการสร้างถนนจะไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านตัน นอกจากนี้อปท. ยังนำยางพาราไปสร้างสนามกีฬาและสนามเด็กเล่นอีกด้วย โดยเป็นมาตรการระยะกลางและระยะยาวที่จะทำให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นอีกและมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยสรุปว่า โครงการสร้างถนนผสมยางพาราทั้งในปีงบประมาณ 2561 – 2562 ที่ดำเนินการแล้วมี 2,565 โครงการ ใช้น้ำยางข้น 29,554 ตันและน้ำยางสด 3,078.87 ตัน นอกจากนี้อปท. ยังนำยางพาราไปสร้างสนามกีฬาและสนามเด็กเล่นอีกด้วย สำหรับสนามกีฬาจัดทำแล้ว 72 โครงการ ส่วนสนามเด็กเล่น 29 โครงการ รวมปริมาณน้ำยางที่ข้นใช้ไปแล้ว 29,929.45 ตันและปริมาณน้ำยางสดที่ใช้ไปแล้ว 3,114.47 ตัน
มาตรการที่กล่าวมานั้นทำให้ราคายางพาราปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำยางสดล่าสุด (วันที่ 4 มิถุนายน 2562) อยู่ที่ 50.90 บาทต่อกิโลกรัม โดยเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 42.91 บาท ส่วนยางแผ่นรมควันชั้น 3 ล่าสุด (วันที่ 4 มิถุนายน 2562) อยู่ที่ 55.89 บาทต่อกิโลกรัม โดยเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 42.91 บาท
จุดมุ่งหมายปลายทางในการรักษาเสถียรภาพราคายางของนายกฤษฎาคือ หากมาตรการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศมากขึ้นทั้งการนำยางพารามาผสมดินทำถนนในชนบทและการสนับสนุนให้เอกชนแปรรูปยางพาราในรูปแบบต่างๆเพื่อเพิ่มมูลค่าควบคู่กับการลดทั้งพื้นที่สวนยางแล้ว จึงมั่นใจว่า ราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอนเนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญคือ จีน ตลอดจนประเทศผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราอื่นๆ จะต้องวางแผนสั่งซื้อยางวัตถุดิบจากตลาดล่วงหน้าที่สำคัญได้แก่ ตลาดไซคอม (สิงคโปร์) ตลาดโตคอม (ญี่ปุ่น) หากทราบว่า ปริมาณยางวัตถุดิบในตลาดโลกจะลดลง ผู้ผลิตเหล่านี้ต้องซื้อไปเก็บสต็อกไว้ เป็นปัจจัยให้ราคาซื้อขายทั้งในตลาดล่วงหน้าสูงขึ้น ส่งผลให้ราคารับซื้อในประเทศสูงตามไปด้วย แผนงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่วางไว้ทั้งหมดมุ่งหวังที่จะลดผลผลิตยางในอนาคต ให้ไม่เกิน 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะทำให้ราคายางพาราของไทยมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน
ที่มา : กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ |