กยท. จัดประชุมเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านยางพารา (HRPP) มุ่งเน้นงานวิจัยตอบโจทย์การผลิตยางอย่างยั่งยืน ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง

          การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการประจำปีความร่วมมือทางวิชาการด้านยางพารา (Hevea Research Platform in Partnership, HRPP) ประจำปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมรามาด้าพลาซ่า แม่น้ำ ริเวอร์ไซต์ กรุงเทพฯ โดยมีนักวิจัยทั้งจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วมเพื่อนำเสนองานวิจัยเพื่อร่วมกันพัฒนาการผลิตยางอย่างยั่งยืน ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร
          นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า การจัดประชุมความร่วมมือทางวิชาการด้านยางพารา ภายใต้หัวข้อ "ความยั่งยืนและการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในการผลิตยาง กับความท้าทายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร” เพื่อระดมความคิดเห็นในการพัฒนาศักยภาพความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนความรู้และผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยางพารา เผยแพร่ผลงานวิจัยที่ได้จากการศึกษาวิจัยร่วมกันออกสู่สาธารณชนในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจน เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเครือข่ายระหว่างการยางแห่งประเทศไทย สถาบันทางการศึกษาของประเทศไทย และสถาบันวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา จำนวน 101 คน ประกอบด้วยผู้แทนจาก กยท. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบัน CIRAD และ สถาบัน IRD จากประเทศฝรั่งเศส และหน่วยงานจากภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม
          นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานเครือข่ายยางสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ "สถานการณ์และความคาดหวังในการส่งเสริมความเข้มแข็งการผลิตยางอย่างยั่งยืน” กล่าวโดยสรุปว่า ต้องการให้สนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ สนับสนุนให้มีการปลูกแทนแบบผสมผสานหรือเกษตรทฤษฎีใหม่แต่ควรศึกษาก่อนว่าเป็นพืชที่ตลาดต้องการหรือไม่ สนับสนุนการรับรองมาตรฐานสวนยาง หรือ FSC แต่หัวข้อที่จะตรวจสอบรับรองควรสอดคล้องกับวิถีของเกษตรกรไทย
         ดร. กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ บรรยายพิเศษเรื่อง นโยบายในการขับเคลื่อนกับการพัฒนาการผลิตและสร้างความยั่งยืนของการผลิตยางในประเทศไทย กล่าวถึง บทบาทและหน้าที่ของการยางแห่งประเทศไทยในการดำเนินงานโครงการและมาตรการต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล เช่น การลดพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม การส่งเสริมและพัฒนาการปรับเปลี่ยนอาชีพอื่นเพิ่มเติมนอกจากการมีรายได้จากสวนยางทางเดียว การส่งเสริมการใช้ยางภาครัฐโดยเฉพาะการนำยางพาราไปทำถนน การสนับสนุนสินเชื่อเสริมเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันเกษตรกรในการขยายกำลังการผลิตหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในการเพิ่มกำลังการผลิตหรือการเก็บสต๊อกยาง ความคืบหน้าโครงการสร้างความเข้มแข้งแก่เกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงได้กล่าวถึงนโยบายของการยางแห่งประเทศไทยในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมยาง การส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่ม/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 
          ในส่วนไฮไลท์ของงานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมในครั้งนี้ มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น 1. ตัวแปรที่มีผลต่อคุณภาพและคุณสมบัติของยางในกระบวนการผลิตยาง โดย ดร. Laurent VAYSSE จากสถาบัน CIRAD 2.การใช้เทคโนโลยีด้านอวกาศมาประยุกต์ใช้กับงานด้านยางพารา เช่น การตรวจสอบพื้นที่ปลูกยาง การพยากรณ์ผลผลิต รวมถึงการตรวจสอบสภาพภูมิอากาศเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการยาง โดย ดร. ปกรณ์ เพชรประยูร จาก GISTDA 3. ทางรอดของเกษตรกรในสภาวะราคายางพาราตกต่ำ นำเสนอแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการส่งเสริมการกรีดที่มีความถี่น้อยลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานกรีด การใส่ปุ๋ยตามค่าการตรวจสอบดิน การเฝ้าระวังและเตือนภัยด้านโรคและสภาพแวดล้อมที่เป็นภัยคุกคาม และการเพิ่มมูลค่าของสวนยางโดยเฉพาะในเรื่องคาร์บอนเครดิต โดย รศ.ดร. พูนพิภพ เกษมทรัพย์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
          นอกจากนี้ยังมีการนำผลงานวิจัยอีกหลายเรื่องเช่น การประเมินการเจริญเติบโตของต้นยาง การศึกษาระบบกรีดแบบต่าง ๆ ที่มีผลต่อปริมาณผลผลิต การปลูกสร้างสวนยางแบบระบบป่ายาง การจัดการสวนยางหลังเปิดกรีดที่ดีและยั่งยืน การวิเคราะห์ดินและการจัดการปุ๋ยในสวนยาง การลดกลิ่นเหม็นจากโรงงานผลิตยาง การศึกษาปริมาณโปรตีนและไขมันในน้ำยาง เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางนำความรู้ไปปรับใช้ พัฒนาประสิทธิภาพผลผลิตให้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งสามารถลดต้นทุนเพื่อให้รายได้เกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น เป็นการสร้างความยั่งยืนในการทำอาชีพสวนยางต่อไป
 
ทีมประชาสัมพันธ์การยางฯ 
« Back