จังหวัดสงขลา เปิด "จุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพารา พัฒนาเกษตรกรไทย" ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ปีที่ 2 มุ่งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราให้แก่สถาบันเกษตรกร

          ช่วงบ่ายเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 62 นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิด "จุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพารา พัฒนาเกษตรกรไทย" ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ปีที่ 2 โดยมีนายสุรัตน์ ลายจันทร์ นายอำเภอบางกล่ำ พร้อมด้วยนายสุรชัย บุญวรรโณ รักษาการผู้อำนวยการ การยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง และนายอภิเดช
เชาวลิต ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรการยางแห่งประเทศไทย ร่วมให้การต้อนรับ
          นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง และทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมยางพาราให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีการผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่มีการนำยางพารามาใช้ในประเทศเพียงร้อยละ 15 ของปริมาณยางที่ผลิตได้ทั้งหมด เมื่อความต้องการใช้ยางพาราของตลาดโลกลดลง จึงส่งผลกระทบต่อราคายางพารา ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้ยางพาราภายในประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องราคา และสร้างความสมดุลด้านปริมาณผลผลิต 
           ดังนั้น การยางแห่งประเทศไทย จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางรวมกลุ่มกันในรูปแบบสถาบันเกษตรกร เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่มมูลค่า และยังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรในการหาพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพารา ภายใต้โครงการ "จุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราพัฒนาเกษตรกรไทย” และสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ปีที่ 2 โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างกัน ระหว่างการยางแห่งประเทศไทย และสถานีบริการน้ำมัน ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ซึ่งคาดว่าจะเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง สามารถลดค่าใช้จ่ายในการหาพื้นที่จำหน่าย เพิ่มรายได้ มีช่องทางแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนวัตกรรม เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพตรง ตรงตามความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น
           นายสุรชัย บุญวรรโณ รักษาการผู้อำนวยการ การยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า แม้ปัจจุบันโลกยังคงมีความต้องการใช้ยางที่มากขึ้น และมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยเองก็เป็นผู้ครองตลาดด้านยางพารา แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งเน้นการส่งออก โดยเฉพาะในรูปของวัตถุดิบ ปัจจุบันมีการใช้ยางพาราในประเทศ ที่ร้อยละ 15 และเน้นการพัฒนาที่ต้นน้ำเป็นหลัก ซึ่งสร้างความเสียเปรียบทางการค้า ไม่สามารถกำหนดราคา หรือต่อรองกับประเทศผู้ใช้ยางได้เท่าที่ควร รัฐบาลจึงมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้ยางภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น   
           ดังนั้น การยางแห่งประเทศไทย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางรวมกลุ่มกันในรูปแบบสถาบันเกษตรกร เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่มมูลค่า อีกทั้ง ยังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรมากมาย ทั้งการส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่หลากหลาย เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ เสาหลักกิโล ผลิตภัณฑ์ยางเพื่อสุขภาพ นอกจากนั้น ยังช่วยในการหาพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราที่เข้าถึงได้ง่าย อย่างเช่น สถานีบริการน้ำมัน ภายใต้โครงการ "จุดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ยางพารา พัฒนาเกษตรกรไทย" ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ปีที่ 2 โดยอาศัยความร่วมมือระหว่าง การยางแห่งประเทศไทย และสถานีบริการน้ำมัน ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จ้ากัด (มหาชน)
          สำหรับจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพารา ณ สถานีบริการน้ำมัน ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เปิดดำเนินการมาแล้ว 2 ปี จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสถาบันเกษตรกร เช่น หมอนยางพารา รองเท้ายางพารา เตียง ยางพารา พรมรองละหมาด อาสนะ และอื่น ๆ สามารถยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้น เป็นการส่งเสริมให้ยางพาราครบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงสามารถยกระดับรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์ได้เป็นอย่างมาก
 
 
           ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : สุธิดา พฤกษ์อุดม
ผู้เรียบเรียง : วสันต์พรรษ จำเริญนุสิต
แหล่งที่มา : สวท.สงขลา 
รูปภาพ : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
« Back