ไทยเจ้าภาพ จัดประชุม ITRC สมัยพิเศษ หารือ - ร่วมกำหนดมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพยาง

          วันนี้ (22 ก.พ.62) ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) สมัยพิเศษ ร่วมกับรัฐมนตรีจากประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ 3 ประเทศ โดยมี นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานการประชุม พร้อมด้วย H.E. Darmin Nasution รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการเศรษฐกิจสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และ H.E Teresa Kok Suh Sim รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานของมาเลเซีย เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัฐบาลประเทศสมาชิก ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ
          นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า ทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จึงมีการนำเอานโยบายต่างๆ แก้ไขปัญหา ตั้งแต่การพยายามลดการพึ่งพาการส่งออก เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้นให้เกิดสมดุล ด้วยการลดปริมาณการผลิตยางธรรมชาติลง เพื่อทำให้ราคายางพาราในประเทศมีเสถียรภาพ ด้าน ITRC และ IRCo (เออโก้) มีความพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการกำหนดนโยบายและโครงการต่างๆ ขึ้น ได้แก่ โครงการส่งเสริมด้านอุปสงค์เพิ่มปริมาณการใช้ยาง โครงการประกวดผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมจากยางธรรมชาติ และการสร้างแบบจำลองในการพยากรณ์อุปสงค์ยางพาราโลก
          นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทยได้มีการกำหนดนโยบายและแนวทางในการแก้ปัญหาราคายางทั้งนโยบายระยะสั้น และระยะยาว ได้แก่ การจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรชาวสวนยางเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างที่ราคายางพาราตกต่ำ โดยเชิญชวนและรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการฝากน้ำยางไว้กับต้นยาง หรือหยุดกรีดยางเป็นเวลา 1 - 2 เดือน การส่งเสริมและเร่งรัดการใช้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศให้มากขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ วัสดุ ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างที่มีส่วนผสมของยางพาราเพิ่มมากขึ้น เช่น บล็อกยางปูพื้น ยางปูสนามฟุตซอล และถนนยางพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต เป็นต้น นอกจากนี้ โครงการเร่งด่วนที่ผลักดันให้มีการดำเนินในปัจจุบัน ได้แก่ การสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศสร้างถนนยางพารากว่า 75,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ โดยมีการสร้างถนนที่มีส่วนผสมของยางพาราในอัตราหมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร เพื่อดูดซับน้ำยางออกจากระบบตลาด และเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็ได้เชิญชวนบริษัทเอกชนทั้งใน และต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนผลิต และแปรรูปยาง โดยให้มีสิทธิพิเศษทางการลงทุน นอกจากนี้ รัฐบาลไทย ก็มีมาตรการในการการควบคุมการผลิตโดยเชิญชวนให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ทดแทนยางพารา เช่น กาแฟ โกโก้ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านยางพาราภายในประเทศ เช่น ผลิตล้อยาง
          "นโยบายของประเทศผู้ผลิตยางเพียงประเทศเดียว ยังไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมยางธรรมชาติได้ยั่งยืน ดังนั้น จึงมีการประชุมร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อหาวิธีการและมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราให้มีเสถียรภาพ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อร่วมกันหาแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืน โดยมีมาตรการเบื้องต้นประกอบด้วย 1. มาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกยางของ 3 ประเทศ รวมจำนวน 200,000 - 300,000 ตัน 2. มาตรการหาวิธีเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศให้เพิ่มขึ้น 3. มาตรการการบริหารจัดการผลผลิตในประเทศ โดยการลดพื้นที่ปลูกยางพาราไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน (Supply Management Scheme : SMS) 4. มาตรการด้านตลาด โดยการจัดทำตลาดยางพาราร่วมกันระหว่างภูมิภาค (Regional Rubber Market : RRM) เพื่อซื้อขายยางพาราล่วงหน้า และ 5. การตั้งสภายางพาราแห่งอาเซียน (ASEAN Rubber Council : ARC) เพื่อเป็นเวทีให้ทั้ง 3 ประเทศมาพูดคุยหารือกันในประเด็นยางพารา ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปยางพารา การศึกษาค้นคว้า งานวิจัย หรือเวทีและเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นต้น” นายกฤษฎา บุญราช กล่าว
 
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์การยางฯ
« Back