ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนิโญอาจลากยาวตลอดทั้งปี และมีรูปแบบการก่อตัวสะสมพลังงานเหมือนมหาภัยแล้งในปี 2558 ซึ่งล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียต่างเห็นตรงกัน ดังนั้นเราคงต้องระมัดระวังเรื่องการใช้น้ำด้วยความไม่ประมาท
จากภาพที่ 1 เราจะพบว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญยังคงมีสัดส่วนที่สูงอย่างต่อเนื่องและไม่ลดลงแม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งความน่าจะเป็นนี้ได้ถูกปรับเพิ่มขึ้นจากการรายงานในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สิ่งนี้สะท้อนว่าปริมาณน้ำฝนที่เราจะสามารถกักเก็บได้ในเขื่อนต่างๆ ช่วงฤดูฝนนี้อาจจะเก็บน้ำเพิ่มได้น้อยกว่าปกติ แม้ว่าเราจะมีน้ําใช้ในเขื่อนอย่างเพียงพอสำหรับปีนี้ แต่ถ้าเหตุการณ์ที่กล่าวถึงเกิดขึ้นจริง เราคงเกิดวิกฤตแน่ นอกจากนั้น ฤดูฝนในปีนี้อาจจะมาช้าและพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานต้องระวังให้ดี
ภาพที่ 2 ชี้ให้เห็นว่าแบบจำลองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชิงสถิต (Static) หรือเชิงพลวัตร (Dynamic) เห็นพ้องตรงกันว่าปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นตลอดปีนี้ มีแนวโน้มค่อนไปทางปรากฏการณ์เอลนินโญ่
ภาพที่ 3 เราจะสังเกตเห็นว่ารูปแบบการก่อตัวของปรากฏการณ์เอลนิโญในปี 2558 ซึ่งทำให้เกิดมหาภัยแล้ง (เลขสีแดง) และปัจจุบันมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ถ้าในช่วงฤดูฝนเจ้าปรากฏการณ์ดังกล่าวยังไม่ลดระดับความรุนแรงลง เรามีแนวโน้มจะเจอมหาภัยแล้งสูงมาก หมายเหตุ ค่าบวกที่เกิน 0.5 สะท้อนความน่าจะเป็นที่จะเกิดภัยแล้งหรือปริมาณน้ำฝนจะมีค่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนค่าลบที่เกิน -0.5 สะท้อนความน่าจะเป็นที่ปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย
ส่วนภาพที่ 4 เป็นดัชนีชี้วัดความแห้งแล้ง หรือที่เรียกกันว่า SPEI index โดยจากการรายงานพบว่าหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีการสะสมความแห้งแล้งตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาในระดับที่สูง ดังนั้นในปีนี้ ผลผลิตทางการเกษตรคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังนอกเขตชลประทาน ซึ่งปีนี้มีการปลูกกันค่อนข้างมากเกินแผนที่กำหนดไว้ของรัฐบาลในหลายพื้นที่ทำให้อาจมีความเสียหายเกิดขึ้น แม้ว่าการคาดการณ์อาจจะมีความผิดพลาดและคลาดเคลื่อนแต่เราต้องไม่ประมาท
ที่มาของข้อมูล