การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เจ้าภาพจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปยางฯ ของกลุ่มประเทศสมาชิกสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (International Rubber Research and Development Board) หรือ IRRDB สนับสนุนให้เกิดการแปรรูป เพิ่มมูลค่า พัฒนาแนวทางการใช้ยางพาราภายในประเทศของสมาชิก เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยมีรายได้ที่มั่นคง และ มีความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพการทำสวนยาง ระหว่างวันที่ 19-22 สิงหาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ และ จ.ระยอง
นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปยาง เรื่อง เทคโนโลยีการทำน้ำยางข้นครีมและการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (Workshop on Transfer of Technology on Rubber Technology in Thailand "The Technology on Creaming Latex Processes and Rubber Products) ของกลุ่มประเทศสมาชิกสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (International Rubber Research and Development Board) หรือ IRRDB ระหว่างวันที่ 19-22 สิงหาคม 2562 ประกอบด้วย หน่วยงาน/ผู้แทนที่รับผิดชอบด้านการผลิต การใช้ และอุตสาหกรรมยาง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 40 คน จาก 6 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา พม่า และศรีลังกา เป็นต้น เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ที่เข้าร่วมสัมมนาเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตยาง อภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ประสบการณ์ ตลอดจนนโยบายของประเทศสมาชิก IRRDB ซึ่งแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายหลักในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตน้ำยางของเกษตรกร รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์จากน้ำยางข้นครีมเพื่อนำไปสู่การใช้ยางเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกได้ให้ความสำคัญในการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพาราในรูปแบบต่างๆ เช่น การสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสามารถผลิตยางให้ได้มาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐาน GMP/ GAP/ISO เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถผลักดันสู่การใช้ในอุตสาหกรรมล้อยางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น นโยบายจากภาครัฐจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการใช้ยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรูปแบบของการให้การช่วยเหลือเกษตรกร และสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อย หรือ องค์กรขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางนั้นมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตยาง และเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มการใช้ยางธรรมชาติในประเทศ สำหรับการสัมมนาฯ การทำน้ำยางข้นครีม จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ปฏิบัติได้ง่าย การลงทุนต่ำ และเหมาะกับเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ทำเองได้ ซึ่งเป็นเทคนิคการแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้นโดยไม่ใช้เครื่องปั่นน้ำยาง รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์จากน้ำยางข้นครีม "แนวทางในการที่จะให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางในประเทศสมาชิกสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง นอกเหนือจากการจัดการสวนยางที่ดี ควรให้การสนับสนุนความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต พัฒนานวัตกรรมการแปรรูป เพิ่มมูลค่า สร้างตลาดใหม่ๆ เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยเกิดรายได้ที่มั่นคง และมีความยั่งยืนในอาชีพการทำสวนยาง นางณพรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย