เกษตรฯ-พาณิชย์ ร่วมแถลงเจรจาขายยาง ซื้อขาย 260,480 ตัน พร้อมชู กยท. เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีโลก หวังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางพารา
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพและผลักดันราคายางให้สูงขึ้น ซึ่งนอกจากนโยบายประกันรายได้เกษตรกรแล้ว กระทรวงเกษตรฯ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยังได้มีการเจรจาขายสินค้ายางพาราเพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออก และให้บูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เดินหน้าทำงานเชิงรุกตามนโยบายอย่างเข้มข้น โดยปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถเจรจาซื้อขายยางพาราระหว่างประเทศกับผู้ซื้อเบื้องต้นจำนวน 2 ราย คือ 1) บริษัทเอกชนจากจีน ซึ่งมีการลงนาม MOU รองรับแล้ว เพื่อซื้อยาง STR 20 ปริมาณ 60,480 ตัน และ 2) ปริษัทเอกชนจากฮ่องกง ซึ่งมีการลงนาม MOU รองรับแล้ว เพื่อซื้อยาง STR 20 100,000 ตัน และยางแผ่นรมควันชั้น 3 อัดก้อน 100,000 ตัน รวมเป็นล็อตนี้ 200,000 ตัน รวมปริมาณการซื้อขายรอบนี้ ทั้งสิ้น 260,480 ตัน โดยยางที่นำมาขายเป็นยางที่รับซื้อผลผลิตยางจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรมาแปรรูป และบางส่วนเป็นยางแปรรูปจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีมาตรฐานการผลิต เช่น GMP หรือ ISO
"การดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อวงการยางพาราไทยได้ขยายช่องทางการจำหน่ายไปต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการตลาดของ กยท. และเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีโลก เกิดการส่งออกภายใต้แบรนด์ กยท. ซึ่งเป็นที่ยอมรับในกลุ่มธุรกิจยางทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางพารา ที่กำลังประสบปัญหาราคายางตกต่ำ ช่วยให้มีช่องทางในการขยายตลาดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพารา อีกทั้งยังทำให้เกิดการเชื่อมโยง ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางพารา เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า/ผลผลิต/ผู้ประกอบกิจการยางพารา ให้ครอบคลุมและทั่วถึงทั้งประเทศด้วย นายจุรินทร์ กล่าว
ด้าน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 กำลังอยู่ในภาคปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดย กยท. กับ ธ.ก.ส. ทำหน้าที่โอนเงินให้กับเกษตรกรหลังจากตรวจสอบบัญชีและการปลูกยางจริงในพื้นที่ เป็นการช่วยสร้างหลักประกันให้เกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งเจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ และคนกรีดยาง ให้มีรายได้ที่แน่นอนมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. จำนวน 1,711,252 ราย เป็นยางแผ่นดิบ 150,803 ราย น้ำยางสด 470,767 ราย และยางก้อนถ้วย 790,447 ราย โครงการนี้ kick off จ่ายเงินงวดแรกพร้อมกันทั่วประเทศไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้บูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหา โดยใช้มาตรการเสริมหรือมาตรการคู่ขนาน ได้แก่ 1) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) 2) โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา (วงเงิน 5,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ก.ย. 57 - 31 ธ.ค. 67 3) โครงการสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (น้ำยางข้น) (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน พ.ค. 60 - เม.ย. 62 4) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) (20,000 ล้านบาท) เพื่อดูดซับยางออกจากระบบประมาณร้อยละ 11 ของผลผลิตยางแห้ง หรือ 350,000 ตัน จากผลผลิตยางแห้งทั้งปีที่มีประมาณ 3,200,000 ตัน 5) โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน ปี 2559 2569 โดยมีเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ ทั้งผลิตภัณฑ์ยางจากน้ำยางข้นและผลิตภัณฑ์ยางจากยางแห้ง ที่ใช้ยางพาราในประเทศ เน้นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าสูง เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม และอื่น ๆ 6) โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางและสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง 7) โครงการสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางพารารายย่อย เพื่อประกอบอาชีพเสริม (พ.ย. 57 พ.ย. 62) (งบประมาณ 15,000 ล้านบาท) 8) โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ (แบ่งเป็นชาวสวน 1,100 บาท/คนกรีด 700 บาท) ระหว่าง ธ.ค. 61 - ก.ย. 62 (งบประมาณ 17,007 ล้านบาท) 9) โครงการบริหารจัดการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของสถาบันเกษตรกร โดยให้ใช้สินเชื่อจากสภาพคล่อง ธ.ก.ส. ในวงเงิน 5,000 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2561- 28 ก.พ. 2563 10) โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร สร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ (para soil-cement) ทั่วประเทศจำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กม. รวมระยะทาง 75,032 กม.(ระยะเวลาดำเนินงาน เดือน ธ.ค.61 ก.ย.62 เงินงบประมาณ 92,327 ล้านบาท) 11) โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อมุ่งผลักดันนโยบายการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐใช้วัตถุดิบยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรชาวสวนยาง ซึ่ง ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2562 มีหน่วยงานภาครัฐ 10 แห่ง เข้าร่วมโครงการฯ ดำเนินการใช้ยางพารา รวมปริมาณความต้องการใช้ยาง คิดเป็นน้ำยางสดเกือบ 170,000 ตัน วงเงินงบประมาณรวมกว่า 43,000 ล้านบาท และ 12. คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการยางที่มีปริมาณการรับซื้อตั้งแต่เดือนละ 5,000 กก.ขึ้นไป แจ้งปริมาณการซื้อ ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการใช้ไป ปริมาณคงเหลือ และสถานที่เก็บสินค้ายางพารา ตลอดจนให้จัดทำบัญชีคุมรายวัน เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ทุกเวลา โดยทั้งหมดลำดับที่ 1-11 ดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนลำดับที่ 12 นั้นดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ โดยยืนยันว่ารัฐบาลบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าทั้งมาตรการหลักและมาตรการคู่ขนานเพื่อยกระดับราคาช่วยเหลือเกษตรกรด้วยความจริงใจและ "ทำได้ไว ทำได้จริง"
นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมูลค่าการส่งออกในปี 2562 ระหว่างมกราคม - กันยายน 2562 อยู่ที่ 128,696 ล้านบาท ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลีใต้ ส่วนคู่แข่งที่สำคัญคือประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยในปี 2561 ปริมาณการส่งออกรวม 4.15 ล้านตัน และในจำนวนนี้ส่งออกไปยังประเทศจีนรวม 2.48 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 59.7 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด ส่วนสถานการณ์ปี 2562 กำลังอยู่ระหว่างการเร่งผักดันการส่งออกนอกโควต้า ข้อตกลงหรือ MOU เดิม ทั้งนี้ เพื่อผลักดันราคายางพาราเพื่อรองรับการช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.