การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) อัปเดตสถานการณ์โรคใบร่วงชนิดใหม่ยางพารา ยังคงเกาะติดเดินหน้า เร่งแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ หนุนนโยบาย และงบประมาณ พร้อมระดมกำลัง ส่งทีมลงพื้นที่สำรวจและติดตามโรคฯ เร่งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
จากสถานการณ์เกิดการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราเมื่อปีที่ผ่าน ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดในสวนยางพาราของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางอย่างรวดเร็วเกือบ 800,000 ไร่ใน 10 จังหวัดภาคใต้ ซึ่ง กยท. ได้เร่งดำเนินการจนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้วในระดับหนึ่ง แม้ปีนี้ข้อมูล ณ ปัจจุบันยังคงพบการระบาดอยู่ประมาณ 23,269 ไร่ ใน 6 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรังและสุราษฎร์ธานี ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม กยท. ยังคงให้ความสำคัญ ได้มอบนโยบายและงบประมาณในแต่ละพื้นที่ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา พร้อมจัดทีมเจ้าหน้าที่ เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคใบร่วงชนิดนี้ทำให้ต้นยางพาราเกิดใบร่วงอย่างรุนแรงและกระทบถึงปริมาณผลผลิต ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนโดยตรง
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กยท. ได้จัดอบรมและแจกจ่ายเอกสารความรู้ด้านโรคและแนวทางการป้องกันกำจัด แก่พนักงาน เกษตรกรชาวสวนยางและผู้เกี่ยวข้องครอบคลุมแทบทุกพื้นที่ในภาคใต้ นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ กยท. ในพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคนี้ดำเนินการประสานเกษตร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง หรือเจ้าของสวนยาง จัดทำโครงการของบประมาณจาก กยท. ตามมาตรา 49 (3) ในการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ฉีดพ่น รวมถึงยาป้องกันกำจัดเชื้อรา ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วใน 6 พื้น คือ จังหวัดนราธิวาส พังงา กระบี่ ตรัง และสุราษฎร์ธานี ล่าสุดได้ดำเนินการฉีดพ่นสารในแปลงที่พบโรคระบาดอีกครั้งที่แปลงเกษตรกร อ. ย่านตาขาว จ. ตรัง ด้วยเครื่องพ่นสารแบบใช้แรงลมขนาดใหญ่ (แอร์บล๊าส) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้ใช้เครื่องมือชนิดนี้ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคในสภาพแปลงยางจริง
ด้าน นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า หลังจากได้นำตัวอย่างไปวิเคราะห์พิสูจน์เชื้อหาสาเหตุแล้ว พบว่าโรคใบร่วงชนิดนี้เป็นเชื้อ Colletotrichum sp. สำหรับสารเคมีในการป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดนี้ทดสอบได้ผลแล้วในห้องปฏิบัติการ เช่นคาร์เบนดาซิม โพรพิโคนาโซล เฮกซะโคนาโซล โพรพิโคนาโซล+ไดฟีโนโคนาโซล เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผลไปทดสอบในสภาพแปลงจริงร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการที่ อ. ระแงะ ยี่งอ และสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส โดยใช้ทั้งอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และ เครื่องยนต์พ่นสารแบบแรงดันน้ำสูงชนิดลากสายในการฉีดพ่น ซึ่ง กยท. จะติดตามผลต่อไป ในส่วนของงบประมาณปี ๒๕๖๔ ยังมีโครงการศึกษากลไกการเข้าทำลาย สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค หรือการเตือนภัยเพื่อนำมาใช้บริหารจัดการโรคได้ถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น
นายกฤษดา สังข์สิงห์ กล่าวย้ำว่า แผนการวิจัยด้านพัฒนาพันธุ์ต้านทานโรคนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน กยท. กำลังดำเนินการควบคู่ไปด้วย และที่สำคัญการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ระหว่างประเทศผู้ผลิตยางที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ ได้แก่อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย และศรีลังกา ซึ่งจะจัดขึ้นกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลนำมาบริหารจัดการโรคต่อไป ไม่ให้มีการแพร่กระจายมากไปกว่านี้