การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ต่อยก 2 โครงการประกันรายได้เกษตรกรสวนยาง เคาะจ่ายเบ็ดเสร็จ 1.8 ล้านราย งบประมาณ 10,042 ล้านบาท ระยะเวลา 6 เดือน พร้อมจ่ายเงินเข้าบัญชีชาวสวนยางเดือนนี้แน่นอน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะ 2 เพื่อช่วยเหลือเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ลดผลกระทบที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเกษตรกร เช่น ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) การขาดแรงงานกรีดยาง และผลจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามเป้า โดยประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,834,087 ราย คิดเป็นพื้นที่จำนวน 18,286,186.03 ไร่ สวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (ตุลาคม 2563 มีนาคม 2564) แบ่งจ่ายเป็น 6 งวด เริ่มจ่ายเงินเข้าบัญชีชาวสวนยางงวดแรกเดือน พฤศจิกายน 2563
การกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้แบ่งออกเป็น ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวน 20 กก./ไร่ และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวน 40 กก./ไร่ แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีดยาง ร้อยละ 40 (60:40) ราคายางที่ประกันรายได้แบ่งตามประเภท ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กก. น้ำยางสด (DRC100%) 57 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก. ใช้วงเงินงบประมาณรวม 10,042 ล้านบาท
โครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะ 2 เป็นมาตรการที่ภาครัฐบาลมุ่งมั่นช่วยเหลือชาวสวนยางอย่างเต็มที่ หนุนให้เกษตรกรมีรายได้แน่นอน แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์ราคายางผันผวน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเสถียรภาพราคายางอีกทางหนึ่งด้วย ผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท