การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เดินหน้าบริหารจัดการสต๊อกยางโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรฯ และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนฯ ตามมติ ครม. เหตุยางเก่าเสื่อมสภาพเนื่องจากเก็บมาเป็นเวลานาน ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสูง ลั่น! ขายช่วงนี้ไม่กระทบตลาด ผู้ซื้อยางเก่าล็อตนี้ ต้องซื้อยางใหม่ของเกษตรกรกว่าแสนตันไปด้วย
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กยท. ได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจให้เข้าร่วมประมูลยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่ง STR 20 และยางอื่นๆ จำนวน 104,763.35 ตัน ของโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบให้ กยท. ดำเนินการระบายสต๊อกยางในโครงการดังกล่าวให้หมดไปโดยเร็ว โดยให้คำนึงถึงระยะเวลา และราคาจำหน่ายที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ได้ทราบผลการประมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทที่ประมูลได้ คือ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การกำหนดทีโออาร์ และคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ได้ดำเนินการอย่างรัดกุม สำหรับยางล๊อตนี้เป็นยางเก่าที่มีอายุ 9 ปี และเสื่อมสภาพ การนำไปใช้งานจึงแตกต่างจากยางใหม่ โดยจะต้องนำไปแปรสภาพก่อนเพื่อใช้ประโยชน์ ดังนั้น ทาง กยท. ต้องมีการระบุคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลที่ชัดเจน ในขณะเดียวกันการระบายยางครั้งนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางและราคายาง จึงตั้งคณะกรรมการบริหาร
สต๊อกยางโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อดำเนินการตรวจสอบปริมาณยาง กำหนดหลักเกณฑ์การปรับลดคุณภาพยาง และการตรวจสอบคุณภาพยางเป็นประจำ รวมถึงได้ว่าจ้างบริษัทผู้ประเมินอิสระทำการตรวจสอบคุณภาพยาง พร้อมประเมินมูลค่าสต๊อกยางเพื่อให้การระบายสต๊อกยางในครั้งนี้เป็นไปอย่างเหมาะสมและโปร่งใสที่สุด
ทั้งนี้ กยท. กำหนดหลักเกณฑ์การประมูลครั้งนี้ว่า ผู้ที่ชนะการประมูลจะต้องซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีก 1 เท่าของปริมาณยางที่ประมูลได้ ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มยอดสั่งซื้ออีกกว่า 1 แสนตันภายใน 1 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา ในส่วนของสต๊อกยางที่ระบายในครั้งนี้ ทางบริษัทฯ จะเริ่มการขนยางในสต๊อกตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน และจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงตั้งแต่ก่อนที่ผลผลิตใหม่จะออกสู่ตลาด
"เหตุผลที่ กยท. เลือกบริหารระบายสต๊อกยางในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงปิดกรีด ก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด ปริมาณยางในตลาดยังมีน้อย อีกทั้งยางในสต๊อกเป็นยางเสื่อมสภาพ การนำยางไปใช้จึงต่างจากยางใหม่ที่มีอยู่ในตลาด ดังนั้น จึงไม่กระทบต่อตลาดยางปกติ อีกทั้งกำหนดให้ผู้ที่ซื้อยางล็อตนี้ต้องซื้อยางใหม่ของเกษตรกรด้วย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับประโยชน์ ไม่มีปัจจัยกดดันในเรื่องราคายาง และที่สำคัญยังเป็นการช่วยลดภาระและค่าใช้จ่ายของภาครัฐอีกด้วย" นายณกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.