วันนี้ ( 22 มิ.ย.64) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ กรมอนามัย (กอ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้เพื่อสุขภาพและสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และกลุ่มเฉพาะกลุ่มพิเศษ นำองค์ความรู้ทันตกรรม-แปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตสื่อโมเดลและตุ๊กตา เพื่อพัฒนาสื่อใช้ในงานทันตสาธารณสุขด้วยวัสดุยางในประเทศ ส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพของบุคลากรสาธารณสุขและผู้ปกครอง ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เป็นองค์กรกลางที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบครบวงจร โดยมีนโยบายมุ่งเน้นสนับสนุนงานด้านวิจัยและพัฒนา ทั้งที่ดำเนินการโดยนักวิจัยของ กยท. และดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์จากยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งนอกจากนำยางพารามาใช้ประโยชน์ด้านนวัตกรรมแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนอาชีพการทำสวนยางพาราให้มีความยั่งยืน ซึ่ง กยท. และกรมอนามัย เห็นพ้องร่วมกันว่า จากความร่วมมือดังกล่าว เมื่อผ่านการทดสอบใช้งานและพัฒนารูปแบบได้เหมาะสม และทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันแล้ว จะนำผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัยในการใช้งานภายในช่องปากจัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภท Food Grade สำหรับงานส่งเสริมสุขภาพทางช่องปากเพื่อขยายผลและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สถาบันเกษตรกรในอนาคต เพื่อให้สามารถผลิตและสร้างเป็นรายได้อย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรต่อไป
ด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า ในปี 2561 พบเด็กแรกเกิดปากแหว่งเพดานโหวในระบบบัตรทอง จำนวน 1,092 คนจากเด็กแรกเกิดทั้งหมด 516,326 คน คิดเป็นอุบัติการณ์ 2.11 คนต่อทารกมีชีพ 1,000 คน ซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้เพื่อสุขภาพและสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มเฉพาะกลุ่มพิเศษในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้ด้วยยางพารา สำหรับบุคลากรสาธารณสุขและผู้ปกครอง เพื่อสนับสนุนการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มเฉพาะกลุ่มพิเศษ
"ทั้งนี้ การสนับสนุนความร่วมมือพัฒนาสื่อส่งเสริมความรอบรู้ กรมอนามัยได้เตรียมข้อมูลเนื้อหาทางสุขภาพ และสุขภาพช่องปาก ออกแบบสื่อ เช่น โมเดลภาวะปากแหว่งเพดานโหว่สำหรับบุคลากรสาธารณสุข และตุ๊กตาเด็กปากแหว่งเพดานโหว่สำหรับการฝึกทักษะผู้ปกครอง พัฒนารูปแบบ
และให้ข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทยผลิตสื่อต้นแบบจากยางพารา ให้บุคลากรสาธารณสุขในเครือข่ายปฐมภูมิได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อส่งเสริมสุขภาพโดยใช้สื่อที่ผลิตจากยางพาราไปใช้ในพื้นที่กับกลุ่มเป้าหมาย และร่วมประเมินผล เพื่อจะได้นำข้อเสนอแนะไปพัฒนาสื่อจากยางพาราให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีประสิทธิภาพในการเพิ่มความรอบรู้ให้แก่ผู้ดูแล ช่วยให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มเฉพาะกลุ่มพิเศษมีสุขภาพที่ดี ตลอดจนพัฒนาสื่อความรอบรู้จากยางพาราในกลุ่มเฉพาะกลุ่มพิเศษอื่น ๆ เช่น กลุ่มที่มีความพิการทางสายตา ต่อไปในอนาคต" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว