การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดัน 4 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางทั้งระบบ รับมือสถานการณ์ผันผวนของตลาดยาง ร่วมกับเอกชนขายยางในตลาดล่วงหน้า รักษาส่วนแบ่งทางการตลาด สร้างศักยภาพทางการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย ดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากระบบกว่า 2 แสนตัน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมอื่นทั่วโลก เพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กยท. ได้ออกมาตรการ 4 มาตรการเพื่อชี้นำราคายางในตลาดให้เกิดเสถียรภาพ ลดความผันผวนของราคา ซึ่งเป็นมาตรการที่ กยท. ดำเนินงานเอง และร่วมกับผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย "มาตรการเพิ่มปริมาณการรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรฯ เข้าสู่โรงงานของ กยท.
เพื่อนำมาแปรรูป โดยมีเป้าหมายรับซื้อและดูดซับน้ำยางในปี 2564 ไม่ต่ำกว่า 20,000 ตัน "โครงการชะลอการขายยาง โดยสนับสนุนเงินทุนเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีเป้าหมายปริมาณยางที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 50,000 ตัน
นายณกรณ์ กล่าวต่อว่า "มาตรการตลาดนำการผลิต ผ่านการซื้อขายล่วงหน้า กยท. ร่วมกับผู้ประกอบการเอกชนที่มีความเข้มแข็งด้านการผลิตและการตลาดซื้อขายล่วงหน้าเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการชี้นำราคา กำหนดเป้าหมาย จำนวน 35,000 ตัน/ปี "มาตรการ กยท. ดีลตรงผู้ใช้ยางขั้นปลายเพื่อลดช่องว่างราคา โดยตั้งเป้าสามารถขายยางได้กว่า 20,000 ตัน/ปี
กยท. ดำเนินโครงการข้างต้นคู่ขนานกับโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท เพิ่มปริมาณการใช้ยางในระบบไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัน/ปี และโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ โดยส่งเสริมความรู้และสนับสนุนเงินทุนให้กับกลุ่มเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพ โดยนำผลผลิตยางมาแปรรูปในกิจกรรมต่างๆ ของหน่วย เป็นการเพิ่มมูลค่ายางพารา เช่น อุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน กระทรวงคมนาคม อุปกรณ์ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงบ่อยางเก็บน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ มาตรการทั้งหมดจะสามารถดึงปริมาณผลผลิตยางส่วนเกินออกจากระบบในปี 2564 ได้ถึง 200,000 ตันต่อปี เป็นอีกหนึ่งปัจจัยให้ราคายางอยู่ในระดับที่เหมาะสม
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.