กยท. เตือน !!! กล้ายางจากภาคใต้ ต้องฉีดสารเคมีป้องกันกำจัดโรคระบาด ก่อนขนย้ายไปพื้นที่อื่น

          การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เตือนผู้ประกอบการขยายพันธุ์ยางเพื่อการค้าและเกษตรกรผู้ปลูกยาง ระวังการนำเชื้อโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราจากภาคใต้ไปสู่การระบาดในภาคอื่นที่ยังไม่เคยพบการระบาด ดังนั้นก่อนทำการขนย้ายกล้ายางออกจากแปลงเพาะ ต้องฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคตามคำแนะนำอย่างน้อย 2-3 ครั้ง
          ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการปลูกยางจึงมีการขนย้ายกล้ายางจำนวนมาก ซึ่งกล้ายางพาราที่ปลูกกันในประเทศไทยส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตหลักจากภาคใต้ เช่นจังหวัดตรัง พังงา นครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ซึ่งจังหวัดเหล่านี้ประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา จากรายงานการศึกษาพบว่าเชื้อรานี้สามารถเข้าทำลายและ ฝังตัวอยู่ได้ทั้งในใบบนต้น กิ่งก้าน ใบที่ร่วงหล่นบนพื้นดิน รวมถึงพืชอื่นๆ ในสวนยาง
          เพื่อเป็นการตัดวงจรและจำกัดวงของการแพร่ระบาดจากการขนย้ายกล้ายางเพื่อไปปลูกใน พื้นที่อื่น สิ่งที่ผู้ประกอบการขยายพันธุ์ยางเพื่อการค้าและเกษตรกรผู้ปลูกยาง ต้องปฏิบัติคือ ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ตามอัตราแนะนำในฉลาก ทุก 3-5 วันไม่ว่าจะเป็นการผลิตกล้ายางชำถุง กล้ายางติดตาในถุง หรือต้นกล้าที่ติดตาในแปลง ก่อนถอนหรือขนย้ายออกจากแปลง เพื่อป้องกันเชื้อโรคติดไปกับกล้ายาง สำหรับสารเคมีที่แนะนำให้ฉีดพ่น เช่น เฮกซาโคนาโซล หรือ ไดฟิโนโคนาโซล หรือ ไซโพรโคนาโซล หรือ โพรพิโคนาโซล หรือ แมนโคเซบ หรือ คาร์เบนดาซิม หรือ โพรพิเนป หรือ คลอโรธาโลนิล ซึ่งอาจเลือกสารใดสารหนึ่งหรือใช้สลับกันก็ได้
 
ทีมประชาสัมพันธ์ กยท.
« Back