กยท. มอบประกันอุบัติเหตุแก่ชาวสวนยาง 1.4 ล้านราย จับมือ ทิพยประกันภัย พร้อมดูแลให้ความคุ้มครองแล้ว

           กยท. ทำประกันอุบัติเหตุมอบชาวสวนยางทุกช่วงอายุที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. กว่า 1.4 ล้านราย โดยให้บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับทำประกัน พร้อมดูแลและให้ความคุ้มครองอย่างทั่วถึงแล้ว ตั้งแต่ 16 สิงหาคม 64 เป็นต้นไป
          นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินการจัดทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มให้เกษตรกรชาวสวนยางทุกช่วงอายุที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 จำนวนทั้งสิ้น 1,407,921 ราย ซึ่งเริ่มคุ้มครอง ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป โดย กยท. ได้มอบประกันนี้ให้เพื่อเป็นสวัสดิการแก่เกษตรกรชาวสวนยาง กรณีสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บทุพพลภาพถาวรอย่างสิ้นเชิง ซึ่งมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ ถูกฆาตกรรมและถูกทำร้ายร่างกาย
(โดยผู้เสียหายมิได้มีเจตนาให้เกิดขึ้นเพื่อหวังรับเงินเอาประกันภัย) สูงสุดรายละ 500,000 บาท รวมถึงอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่/โดยสารรถจักรยานยนต์ สูงสุดรายละ 250,000 บาท นอกจากนี้ กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ รายละ 30,000 บาท และ กยท. จะมอบเงินเงินช่วยเหลือให้แก่ทายาท อีกรายละ 3,000 บาท เพื่อเป็นสวัสดิการของเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มเติมด้วย
         ทาง กยท. ได้มีการพิจารณาและคัดเลือกบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทประกันชั้นนำที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเป็นผู้ถือหุ้น มีผลงานเป็นที่น่าเชื่อถือ และมีสาขา จุดบริการลูกค้า ตลอดจนตัวแทนประกันกระจายครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ ทำให้มั่นใจได้ว่า พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับความสะดวกในการประสานงานและการดูแลเป็นอย่างดี นอกจากจะติดต่อตรงที่สำนักงานสาขา หรือตัวแทนของบริษัทในพื้นที่แล้ว ทางบริษัท ทิพยประกันภัย ยังมีแอพพลิเคชั่น "TIP FLASH CLAIM” ที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้เกษตรกรชาวสวนยางหรือทายาทสามารถยื่นเรื่องและติดตามสถานะการเรียกร้องค่าสินไหมได้ เป็นการอำนวยความสะดวกและช่วยหลีกเลี่ยงการเดินทาง การพบปะกับผู้อื่น เพื่อความปลอดภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19
           "การดูแลพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางนั้น เป็นสิ่งที่ กยท. ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ กยท.
จึงกำหนดกฎเกณฑ์ในการประมูลว่าบริษัทที่จะเข้ามาเป็นผู้รับทำประกัน ต้องเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่
หรือมีเงินทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท เพื่อให้ได้บริษัทที่มั่นคง มีเสถียรภาพ ไม่เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา สำหรับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางบางส่วนที่ยังไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น กยท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้เร่งรัดบริษัทประกันที่เคยเป็นคู่สัญญาเดิมกับ กยท. ทั้ง 2 แห่ง เร่งดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทของเกษตรกรโดยเร็วที่สุด” ผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
« Back