กยท. จับมือ เท็กเซ็ท พัฒนาเทคโนโลยีน้ำยางคอมพาวนด์เคลือบใยสังเคราะห์ ต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์ สู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม

         วันนี้ (24 ส.ค.64) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จับมือบริษัท เท็กเซ็ท จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ นำเทคโนโลยีการผลิตน้ำยางคอมพาวนด์สำหรับนำไปเคลือบบนแผ่นใยสังเคราะห์เข้าสู่กระบวนการผลิต เพิ่มศักยภาพการผลิตและการแข่งขัน ดันสู่ภาคอุตสาหกรรมต่อยอดเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม
          นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กยท. มีนโยบายการพัฒนาและเพิ่มมูลค่ายางพาราโดยการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมยางที่หลากหลาย เน้นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน เพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศและขยายตลาดส่งออก ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดการผลิตในเชิงพาณิชย์และเป็นฐานการลงทุนอุตสาหกรรมยางของประเทศ จึงนำมาสู่ความร่วมมือการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ระหว่าง กยท. และ บริษัท เท็กเซ็ท จำกัด ตามโครงการวิจัย "การนำผลงานวิจัยการทำแผ่นกั้นน้ำที่ทำจากแผ่นใยสังเคราะห์ขยายผลสู่ผู้ประกอบการ”
           นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการวิจัยดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งในโครงการวิจัยที่สำคัญในปี 2564 กยท. โดยฝ่ายอุตสาหกรรมยาง ได้วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำยางคอมพาวนด์สำหรับนำไปเคลือบบนแผ่นใยสังเคราะห์ และเทคโนโลยีการเคลือบน้ำยางคอมพาวนด์บนแผ่นใยสังเคราะห์ แก่ผู้ประกอบกิจการยางที่มีศักยภาพและความพร้อมทั้งด้านเครื่องจักร บุคลากร ซึ่ง บริษัท เท็กเซ็ท จำกัด ได้นำเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจาก กยท. ไปปรับใช้กับกระบวนการผลิตแผ่นกั้นน้ำสำเร็จรูป เป็นนวัตกรรมแผ่นกันน้ำด้วยการใช้น้ำยางคอมพาวนด์เคลือบแผ่นใยสังเคราะห์ที่สามารถรับน้ำแรงสูง ทนทานต่อการใช้งานของเกษตรกร และผู้ที่ต้องการก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำดิบ หรืองานสาธารณประโยชน์ โดยจะใช้ยางธรรมชาติประมาณ 1 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางเมตร ซึ่งมาตรฐานของอ่างเก็บน้ำทั่วไปมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 3,500 ตารางเมตร ดังนั้น จะใช้ยางธรรมชาติประมาณ 3.5 ตันต่อ 1 บ่อ โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมากกว่าแผ่นกั้นน้ำที่ทำจากพลาสติกหรือผ้ายางทั่วไปที่มีอายุการใช้งานเพียง 1-2 ปี ทั้งนี้ กยท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีชิ้นนี้ จะช่วยสร้างรายได้และยกระดับมาตรฐานแก่ผู้ประกอบการแปรรูปยางของไทย
        "กยท. ตระหนักดีว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัยจะมีประโยชน์สูงสุดหากมีการนำไปขยายผลหรือนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มศักยภาพการผลิตและการแข่งขันในตลาดให้ผู้ประกอบการ และกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางในประเทศได้มากขึ้น” ผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย
         นายอำนวย ตัณฑ์ศุภศิริ กรรมการบริษัท เท็กเซ็ท จำกัด กล่าวว่า ขอขอบคุณ กยท. ที่ร่วมพัฒนาและสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากยางพาราผสมผสานกับผลิตภัณฑ์ใยสังเคราะห์ของทางบริษัท จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ในชื่อ RUBBER SEAL GEOTEXTILE หรือ RSG ซึ่งทำให้บริษัทฯ ประจักษ์ถึงความมุ่งมั่นของ กยท. ที่จะผลักดันให้ยางพาราของไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ บริษัทฯ จึงเกิดกำลังใจและพร้อมทุ่มเทพลังความสามารถที่จะร่วมพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ RSG นี้ให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งมีเป้าหมายการใช้งานในการเก็บกักน้ำ สร้างแหล่งน้ำ หรือแนวกั้นน้ำ สำหรับระบบชลประทาน การเกษตรกรรม และอื่นๆ เพื่อประโยชน์หลากหลายในทุกภูมิภาค และที่สำคัญยิ่งคือ เพื่อมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางไทย
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
« Back