การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่าง จำกัด จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ในรูปแบบออนไลน์ นำร่องหยิบงานวิจัยการผลิตแผ่นรองเท้าจากยางธรรมชาติเพื่อลดการเกิดอาการรองช้ำ ของ กยท. ขยายผลสู่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความพร้อม สามารถนำผลผลิตยางพาราในพื้นที่แปรรูปต่อยอดสร้างรายได้สู่สถาบันตนเองอย่างยั่งยืน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. มีนโยบายสนับสนุน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรมและการสร้างนวัตกรรมยางที่หลากหลาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา และมุ่งขยายผลการใช้ยางพาราในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติในประเทศแล้ว ในอนาคตยังสามารถพัฒนาไปสู่การขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง นับเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์และการลงทุนอุตสาหกรรมยางของประเทศ
การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ กยท. ได้นำผลงานวิจัย การผลิตแผ่นรองเท้าจากยางธรรมชาติที่สำเร็จ และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต สู่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีศักยภาพ ที่มีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์การผลิต และบุคลากร ให้สามารถนำเทคโนโลยีที่ได้รับผลิตเป็นแผ่นรองเท้าจากยางธรรมชาติและจำหน่ายเป็นรายได้ต่อไป ซึ่งทางสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่าง จำกัด เป็นหนึ่งในสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ และพร้อมในการนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดผลิตแผ่นรองเท้าจากยางธรรมชาติได้ โดย กยท. ได้ถ่ายทอดผลการวิจัย ตั้งแต่การผลิตแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์สำหรับการขึ้นรูป กระบวนการผลิตน้ำยางคอมพาวนด์ และเทคนิคการตีฟองเพื่อการผลิตแผ่นรองเท้าจากยางธรรมชาติ จนสถาบันเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้กับกระบวนการผลิตของตนเองได้ และผลิตภัณฑ์ที่ได้ต้องผ่านการทดสอบคุณภาพต่างๆ ให้ได้ตามมาตรฐานสำหรับการใช้งานจริง นอกจากนี้แผ่นรองเท้าจากยางธรรมชาติที่ได้ จะใช้ยางธรรมชาติเนื้อยางแห้ง ประมาณ 40 กิโลกรัม ในการผลิตแผ่นรองเท้ายางพาราธรรมชาติได้ 100 คู่
สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่าง จำกัด นับเป็นอีกสถาบันเกษตรกรที่มีความเข็มแข็งในการดำเนินธุรกิจ สามารถนำศักยภาพของสถาบันฯ มาพัฒนาการแปรรูปยาง สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตยางของสถาบัน สร้างรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มีความหลากหลายอย่างยั่งยืนในอนาคต และ กยท. เชื่อมั่นว่าผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีอื่นๆ จาก กยท.จะสามารถขยายผลสู่สถาบันเกษตรกร ช่วยสร้างรายได้และยกระดับสถาบันเกษตรกร ให้สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางให้ได้ตามมาตรฐาน และมีความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะงานวิจัยทุกๆ ชิ้นจะเกิดประโยชน์สูงสุด ต่อเมื่อได้มีการขยายผล หรือ นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม นายณกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นางสาวณฐนนท เจริญรมย์ ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่าง จำกัด กล่าวว่า ทางสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่าง จำกัด รู้สึกยินดีที่ได้รับงานวิจัยชิ้นนี้จาก กยท. มาทดลองทำ ทางสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่าง มีทิศทางดำเนินงานในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราจากธรรมชาติ ให้ใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยและคนทั่วโลกได้ ในรูปแบบของการยืน เดิน นั่ง และนอน ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวัน ผลงานชิ้นนี้จะมาเติมเต็มเรื่องของการเดิน คนที่ในชีวิตประจำวันต้องยืนหรือเดินนานๆ มีค่อนข้างมีเยอะ และยังหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ปัญหาของตนเองไม่ได้ งานวิจัยตรงนี้จะนำมาต่อยอด การทำธุรกิจของสหกรณ์ของเรา
สำหรับเรื่องของตลาด ทางสหกรณ์ฯ ได้ศึกษาตลาดมานานพอสมควร โดยร่วมกับทีมแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ปัจจุบันสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่างดูแลเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นสมาชิก จำนวน 1,200 คน มีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมดประมาณ 15,000 ไร่ โดยสหกรณ์ฯ เน้นสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ รวมไปถึงปีนี้เป็นปีแรกที่สหกรณ์ฯ ซื้อน้ำยางจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด ซึ่งพอมีงานวิจัยชิ้นนี้มารองรับทำให้ทำการตลาดได้มากขึ้น และทางสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่าง จำกัด พร้อมที่จะเป็นศูนย์เรียนรู้ และเป็นต้นแบบให้กับสหกรณ์สวนยางอื่นๆ ต่อไป
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.