ชาวสวนยางเฮ !! จุรินทร์-เฉลิมชัย เตรียมดัน ประกันรายได้ยางพาราปี3 เข้าครม. "ใช้หมื่นล้านช่วยชาวสวนยาง"
วันพุธที่ 15 กันยายน 2564 เวลา 9.30 น.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/64 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยวันนี้ที่ประชุมมีโดยสรุปผลการประชุมคือเห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 หรือประกันรายได้ยางพาราปีที่3 โดยมีหลักเกณฑ์เหมือนปีที่ผ่านมา โดยเริ่มประกันรายได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 มีนาคม 2565 แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ ประกันรายได้ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60.00 บาท/ต่อ กิโลกรัมประกันรายได้ราคาน้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม ประกันรายได้ราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาท/กิโลกรัมงบประมาณ วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,065.68 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดําเนินการจัดทํารายละเอียดโครงการเพื่อนําเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
โดยนายนายจุรินทร์ กล่าวว่า การที่คณะกรรมการยางธรรมชาติให้ความเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางในวันนี้ถือว่าเป็นการเดินหน้าประกันรายได้ยาง ปีที่3 ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรชาวสวนยางเกือบ 2,000,000 ครัวเรือน และใช้เงินทั้งสิ้น 10,065 ล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีหลักประกันในเรื่องรายได้จากการขายยางตามรายได้ที่ประกันแม้ในยามที่ราคายางตกลงมาในบางช่วง ขณะนี้ถือว่าราคายางอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะยางก้อนถ้วย เพราะเมื่อหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรขายยางก้อนถ้วย หรือ ขี้ยางได้ราคา 10 - 15 บาท แต่ว่าวันนี้ราคายางก้อนถ้วยสูงขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 22 - 25บาทโดยประมาณซึ่งถือว่าบางช่วงก็สูงกว่ารายได้ที่ประกัน ซึ่งอยู่ที่ 23 บาท
"เพราะฉะนั้นถือว่าราคายางก้อนถ้วยดีขึ้นมากและทรงตัวอยู่นานแล้ว เป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางทั้งภาคใต้และภาคอีสาน และทั่วประเทศ ส่วนราคาน้ำยางที่ตกลงมาบ้างในช่วงนี้เป็นเพราะมาเลเซียซึ่งเป็นตลาดส่งออกน้ำยางรายใหญ่ของไทยประสบปัญหาโควิดทำให้โรงงานผลิตถุงมือยางต้องปิดตัวลงไปและการส่งน้ำยางข้ามแดนติดขัดจากมาตรการล็อคดาวน์เพราะฉะนั้นส่งผลให้ราคาน้ำยางตกลงไปบ้าง แต่คาดว่าเมื่อมาเลเซียสามารถแก้ปัญหาโควิดคลี่คลายโอกาสที่ราคาน้ำยางจากกระเตื้องขึ้นก็มีมาก นอกจากนั้นโรงงานผลิตถุงมือยางในไทยก็ติดโควิดทำให้การผลิตไม่สามารถดำเนินการได้เต็มร้อยความต้องการน้ำยางจึงลดลงส่งผลกระทบต่อราคาน้ำยาง สำหรับโครงการประกันรายได้ปี3 นั้น ขณะนี้ตนได้เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.และ รอการพิจารณาอยู่ทั้งประกันรายได้ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดยาง ถือว่าเป็นตัวที่4 และถัดจากนี้ก็จะได้เสนอในเรื่องของการประกันรายได้ชาวสวนปาล์มต่อไป " นายจุรินทร์ กล่าว
นอกจากนั้น รายงานข่าวการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ระบุว่าที่ประชุม ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการขอรับเงินอุดหนุนและส่งเสริมสนับสนุนการปลูก แทนเพิ่มเติม โครงการควบคุมปริมาณการผลิต คือ เห็นชอบในหลักการการขยายระยะเวลาการดําเนินการจากปี 2558 - 2564 เป็นปี 2558 - 2566 โดยดําเนินการลดพื้นที่ปลูกยางพารา จํานวน 450,000 ไร่ แบ่งเป็นลดพื้นที่ปลูก ยางพารา ปี 2565 จํานวน 225,000 ไร่ และ ปี 2566 จํานวน 225,000 ไร่ วงเงินงบประมาณ 7,200 ล้านบาท โดยให้ กยท. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปี 2565 2573 ทั้งนี้การเบิกจ่ายเป็นไปตาม ภาระที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินกรอบงบประมาณที่กําหนด เห็นชอบในหลักการขอรับจัดสรรงบประมาณที่ได้ดําเนินการเพิ่มเติมไปแล้ว ซึ่งดําเนินการตามนโยบายการลดพื้นที่ปลูกยางพาราของรัฐ ในการส่งเสริมลดพื้นที่ปลูกยางพารา ปี 2558 2563 จํานวน 911,751 ไร่ จํานวนเงินทั้งสิ้น 14,588 ล้านบาท ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย ดําเนินการจัดทํารายละเอียดโครงการเพื่อนําเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
เห็นชอบในหลักการโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการ ยาง (ยางแห้ง) เพื่อรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท จากเดิมให้สินเชื่อไปซื้อไม้ยาง ปรับเป็นให้คลอบคลุมสินเชื่อซื้อไม้ยาง และขยายกำลังการผลิต การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะเวลาดําเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ธันวาคม 2565 ระยะเวลาในการ ชดเชยดอกเบี้ย ตามโครงการฯ 1 ปี นับตั้งแต่ได้รับอนุมัติ แต่ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2565 กรอบวงเงินชดเชย ดอกเบี้ย 603 ล้านบาท โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และมอบหมายให้กระทรวง เกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทํางาน ดําเนินการโครงการชุด ต่าง ๆ และจัดทํารายละเอียดโครงการเพื่อนําเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
เห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 เกี่ยวกับการมอบหมายหน่วยงานขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปี เพื่อจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้เข้าร่วม โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย ทําหน้าที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปี เพื่อจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ จํานวน 42 ล้านบาท และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย ดําเนินการจัดทํารายละเอียดโครงการเพื่อนําเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ต่อไป เห็นชอบอนุมัติปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์
ข้อเสนอเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสนับสนุนสินเชื่อ เป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ได้แก่ 1) ชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อไม้ยาง และหรือชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อ เกี่ยวข้องกับการดําเนินงานกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการขยายกําลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การผลิต ณ ที่ตั้งเดิมหรือที่ตั้งใหม่ เพื่อใช้ในการประกอบกิจการ 2) ผู้ประกอบการจะต้องมีสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและหรือสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินงาน กิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ โดยให้หารือกับกระทรวงการคลังไปใช้ในประมาณประจำปี 65 เพื่อนำเสนอ ครม ต่อไป
อนุมัติเพิ่มองค์ประกอบในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ข้อเสนอเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพิ่มนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เป็น กรรมการ ในองค์ประกอบ กนย. และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย ดําเนินการจัดทํารายละเอียด เพื่อนําเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป และเห็นชอบในหลักการขออนุมัติเพิ่มองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ข้อเสนอเพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง ผู้อํานวยการสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็น คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี เพิ่มเติม และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย ยกร่างองค์ประกอบคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปีเพิ่มเติม เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนย. เพื่อพิจารณาลงนามต่อไปด้วย