กยท. ผนึก มอ. จัดโครงการประกวด “Smart Rubber products Champion” ชิงเงินรางวัลรวม 1.4 แสนบาท พร้อมเสวนาหัวข้อ “ยางพารามูลค่าสูงสู่นานาชาติเป็นไปได้ไหม” มุ่งต่อยอดชิ้นงานสู่เชิงพาณิชย์

           เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ด้านยางพาราและไม้ยางพารา "Smart Rubber products Champion” ชิงเงินรางวัลรวม 140,000 บาท พร้อมจัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ "ยางพารามูลค่าสูงสู่นานาชาติเป็นไปได้ไหม” โดยมี นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้
          สำหรับโครงการประกวด "Smart Rubber products Champion” ในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ นิสิต นักศึกษา เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางและผู้สนใจทั่วไป ที่มีความสนใจงานวิจัยด้านยางพาราและไม้ยางพารา ได้แสดงความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การแข่งขันนวัตกรรมระดับสูง และกระตุ้นให้นำผลงาน/สิ่งประดิษฐ์สู่การจดสิทธิบัตร และใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ สร้างเครือข่ายสถาบันเกษตรกร Startups และ SMEs และผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพารา รวมทั้งการแบ่งปันความรู้ด้านยางพาราและไม้ยางพารา พร้อมทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านยางพาราและไม้ยางพารา ให้มีความตื่นตัวในการพัฒนางานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่จะสร้างการพัฒนาวงการยางพาราให้ประเทศไทยในทุกๆ มิติ
         การจัดการประกวด Smart Rubber products Champion การยางแห่งประเทศไทย ประจำปี 2564 เพื่อเฟ้นหาทีมที่เป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ยางพาราประจำปี 2564 โดยมีนิสิต นักศึกษา เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ และ Visual System ทั้งหมด 20 ทีม แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ ทีมที่มาจากผู้ชนะเลิศการประกวดผลิตภัณฑ์ยางพารา และไม้ยางพารา จากระดับเขตแต่ละเขต จำนวน 7 ทีม ผู้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางไปสู่ Startup ด้านยางพารา จำนวน 7 ทีม และผู้เข้าร่วมการประกวดนวัตกรรมการยางแห่งประเทศไทย และทีมรับเชิญพิเศษ (ไวด์การ์ด) จำนวน 6 ทีม โดยผลการประกวดมีดังนี้ รางวัล Popular vote ได้แก่ชิ้นงาน หมอนแปลงร่างพาราโฟมบีท รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 ทีม เบญญาแพช (Benya Patches) ผลงานแผ่นกาวยางติดผิวหนังป้องกันแผลติดเชื้อ ผู้ส่งผลงาน นางสาวสุภากิจ เภาเสน รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 ทีม กรวยยางธรรมชาติอุดระเบิดเพื่อการเหมืองแร่ ผู้ส่งผลงาน นายฉัตรชัย วรรณเพชร และรางวัลชนะเลิศอันดับที่ ๑ ทีม ชุดก้อนหินเรียงซ้อน ผู้ส่งผลงาน นายประเวศน์ หงส์ทอง ในนามบริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด
« Back