คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งนายกุลเดช พัวพัฒนกุล เป็นประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทยคนใหม่ขับเคลื่อน กยท. โดยเฉพาะโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง พร้อมผ่านความเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะ 3 เทงบกว่า 10,000 ล้านบาท ให้เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศกว่า 1.8 ล้านราย เตรียมจ่ายเงินชดเชยรายได้ 2 งวดแรกให้ชาวสวนยางภายในเดือน ธันวาคมนี้
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะรัฐมนตรีเข้าร่วม โดยคณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายกุลเดช พัวพัฒนกุล เป็นประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทยคนใหม่แทนท่านเก่าที่ครบวาระซึ่งแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงทางด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม หรือการบริหาร ด้านประวัติ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2501 ปัจจุบันอายุ 63 ปี ประวัติการศึกษา จบปริญญาโทศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อเข้ามาขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กยท. ตามนโยบาย โดยเฉพาะโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง
พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 ประกันรายได้ตั้งแต่ ตุลาคม 2564 มีนาคม 2565 ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 1,880,458 ราย แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยกำหนดราคาประกันรายได้ ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัมน้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 10,065,687,645.28 บาท
โดยจะเริ่มจ่ายงวดแรกและงวดที่ 2 ของเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน 2564 ภายในเดือนธันวาคม 2564 นี้ หลังจากนั้นจะจ่ายเดือนละครั้งจนถึงเดือนเมษายน 2565 จนครบทั้ง 6 งวด ซึ่งจากนี้คณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิงจะออกประกาศราคากลางในการชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรต่อไป
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า " ถึงแม้สถานการณ์ราคายางในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นไปในทิศทางที่ดีและมีเสถียรภาพ สูงกว่าราคาประกันรายได้ที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความมั่นคงด้านรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งนี้ กยท. ยังได้ดำเนินโครงการและมาตรการคู่ขนานเพื่อแก้ปัญหาราคายาง เช่น โครงการชะลอการขายยาง โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร เป็นต้น