กยท. ชู มาตรการชะลอยางฯ ควบคู่ ประกันรายได้ พร้อม รองรับสถานกาณ์ราคายางส่งท้ายปี

          กยท. เดินหน้าโครงการชะลอยางฯ สามารถเก็บผลผลิตและขายในช่วงที่ราคาเหมาะสม เพิ่มสภาพคล่องให้ชาวสวนยาง ควบคู่ประกันรายได้เยียวยาในช่วงทีราคายางย่อตัว พร้อมชี้ สถานการณ์ยางกำลังมีทิศทางดีขึ้น ความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มสูง ตั้งแต่ต้นปี 65
         นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ เผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
เดินหน้าโครงการชะลอยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางฯ ซึ่งเริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตยาง (ยางก้อนถ้วยและน้ำยางสด) จากสถาบันเกษตรกรแล้วในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งสามารถช่วยให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้น เพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรชาวสวนยาง ไม่ต้องเร่งขายผลผลิตยาง สามารถเก็บไว้ขายในช่วงที่ราคายางสูงขึ้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ซึ่งคณะกรรมการ กยท. สั่งการให้นำมาตรการดังกล่าวมาใช้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำยางสดที่ส่งเสริมให้แปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน และซื้อขายผ่านตลาดกลางที่เป็นตลาดข้อตกลงส่งมอบจริงล่วงหน้า 7 วัน ช่วยในการบริหารต้นทุนการแปรรูปยาง และลดความเสี่ยงด้านราคายางลงได้ เป็นอีกมาตรการที่ช่วยสนับสนุนและเพิ่มความต้องการใช้น้ำยางสดให้สูงขึ้นได้
          นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ราคาน้ำยางสดเฉลี่ยช่วงธันวาคม ( 1–24 ธ.ค. 64 ) อยู่ที่ 54.59 บาท/กก.โดยช่วงต้นเดือน ธ.ค. ราคายางขยับตัวสูงขึ้นเกินกว่าราคาเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อย เพราะมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำยางสดช่วงสิ้นเดือนนี้อาจย่อตัวลงเล็กน้อยเป็นปกติในช่วงปลายปีของทุกปี เนื่องจากโรงงานหลายแห่งชะลอการผลิตช่วงวันหยุดยาวเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ธุรกิจและธุรกรรมทางการเงินของโลกโดยส่วนใหญ่หยุดดำเนินการ โรงงานอุตสาหกรรมยางลดกำลังการผลิตลงเพื่อรองรับวันหยุดยาว ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศมาเลเซีย ในรัฐปะลิส ปีนัง สลังงอร์ กลันตัน เคดะห์ ตรังกานู ปะหัง และเปรัก สร้างความกังวลในหมู่ผู้ผลิต ในขณะที่ผลผลิตน้ำยางสดยังออกสู่ตลาดต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านโครงการประกันรายได้ฯ ระยะ 3 ซึ่งจะเร่งจ่ายเงินชดเชยประจำเดือนธันวาคม 2564 ให้ถึงมือเกษตรกรช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 นอกจากกนี้ เกษตรกรชาวสวนยางยังมีอีกหนึ่งทางเลือก คือ
การเก็บผลผลิตยางไว้จำหน่ายในช่วงที่ราคายางเหมาะสมได้ ด้วยการเข้าร่วมโครงการชะลอยางฯ กับ กยท.
          "สถานการณ์ยางกำลังมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยในเดือน ม.ค. 65 มีปัจจัยบวกที่สนับสนุนเนื่องจาก ประเทศเวียดนามและจีนเข้าสู่ช่วงปิดกรีดยางแล้ว ฤดูหนาวทุกปี จึงเกิดปัญหาการขาดแคลนอุปทานตามฤดูกาล ในขณะที่ความต้องการนำเข้ายางของจีนมากขึ้นและบริษัทผู้ผลิตเริ่มตุนสต็อกยางธรรมชาติก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน คาดว่าการบริโภครายเดือนจะสูงถึง 500,000 ตัน นอกจากนี้ ความต้องการยางในประเทศอื่นๆ ก็เพิ่มสูงขึ้น โดยมีรายงานยอดการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 5.4% หรือประมาณ 25.7 ล้านคัน ในปี 2565” รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ กล่าวย้ำ
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
         
« Back