กยท. คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2564 ด้าน"การดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่นประเภทชมเชย หลังชูโครงการส่งเสริมการทำสวนยางตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน รับใบรับรองมาตรฐาน FSC อย่างเป็นทางการ เดินหน้าขยายพื้นที่โครงการสู่สวนยางทั่วประเทศ หวังสร้างอาชีพสวนยางยั่งยืนอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ทำการค้าในตลาดโลกตามระดับมาตรฐานสากล ย้ำเร่งพัฒนาองค์กร-งานยางพารา ทันกระแสโลก
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยหลัง กยท. รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 ด้านการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประเภทชมเชย จาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อ 31 ม.ค.65 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีแทนพี่น้องชาวสวนยางและผู้เกี่ยวข้องกับยางพาราไทยทุกคนที่ร่วมกับ กยท. ผลักดันโครงการ "ส่งเสริมการทำสวนยางตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน จนสร้างมาตรฐานสวนยางพาราของไทย เข้าสู่ระบบการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามหลักสากล และได้รับการยอมรับในระดับโลก สร้างคุณประโยชน์มหาศาล ทั้งต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ทำให้อาชีพการทำสวนยางของไทยได้รับการยอมรับ กยท. จึงส่งโครงการนี้เข้าประกวดกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในสาขาการดำเนินงานเพื่อสังคมเเละสิ่งเเวดล้อมดีเด่น กระทั่งได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 สาขาดังกล่าว ประเภทชมเชย ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ กยท. สนับสนุนให้ชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง มีความเข้มแข็ง แข่งขันได้และเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเดินหน้าผลักดัน "โครงการส่งเสริมการทำสวนยางตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง รางวัลที่ได้ครั้งนี้มาจากการส่งผลงานช่วงปี 2562 2564 พื้นที่เป้าหมายจำนวน 419,137 ไร่ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการขอรับรองมาตรฐาน FSCTM (Forest Stewardship CouncilTM) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบการขอรับรองมาตรฐานแก่ชาวสวนยาง ในพื้นที่ของกองจัดการสวนยาง 1 จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 10,910.25 ไร่ ได้รับการรับรองและประกาศอย่างเป็นทางการบนเว็บไซต์ของ FSCTM เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ขณะนี้กำลังขยายศูนย์เรียนรู้ระบบการขอรับรองมาตรฐานฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เป้าหมายครอบคลุมที่ศูนย์เรียนรู้ยางพารา จ.กระบี่ กองจัดการสวนยาง 2 และ 3 แปลงผลิตพันธุ์ยาง กยท.จ.ระยอง ศูนย์วิจัยยางบุรีรัมย์ และศูนย์วิจัยยางหนองคาย รวมทั้งหมด 30,955.75 ไร่
ส่วนที่สอง เป็นสวนยางพาราของเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องปฏิบัติตามระบบมาตรฐานการจัดการสวนยางตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เพื่อขอการรับรองต่อไป โดยปี 2562 2563 ดำเนินการนำร่องใน 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง กระบี่ พัทลุง สงขลา และสตูล สำหรับปี 2564 ได้ขยายเป้าหมายการสร้างมาตรฐานสวนยางให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้และรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางที่ขอเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งหมด 388,181.25 ไร่
"ปีที่ผ่านมา กยท.ประสบความสำเร็จด้วยดี ทั้งจากรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2564 ด้านการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประเภทชมเชย ในครั้งนี้ และเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กยท. ยังได้รับรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ปี 2564 ประเภทรางวัลพัฒนาการดีเด่นหน่วยงานระดับกรมที่ให้บริการเป็นหลัก ผมยืนยันว่า กยท. จะเดินหน้าพัฒนาการทำงานด้วยความใส่ใจในทุกด้านควบคู่กันไป ให้ทัน กระแสโลก อาทิ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การตั้งบริษัทลูกเพื่อการค้าและการลงทุน ฯลฯ เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องชาวสวนยางและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในวงการยางพารา ผวก.กยท. กล่าวทิ้งท้าย