กยท. เผยสถานการณ์ยางไตรมาส 1/2565 พร้อมอัพเดท 2 Mobile Application สนับสนุนการบริหารจัดการยางยุคดิจิทัล

          วันนี้ (14 ก.พ. 65) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเวที "Talk about Rubber” ครั้งที่ 2 โดยมี นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย และ นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง ร่วมแถลงสถานการณ์ – แนวโน้มยางพารา พร้อมอัพเดท Mobile Application เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการยางยุคดิจิทัล เน้น เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการต่างๆ ของ กยท. สะดวก รวดเร็ว เป็นประโยชน์แก่ชาวสวนยางและผู้ใช้งาน
          นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ว่า ในปี 2565 มีผลผลิตยางประมาณ 4.905 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.82% แต่ช่วงไตรมาสที่ 1/2565 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 1.186 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 6.35% ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม คาดมีผลผลิตประมาณ 0.387 ล้านตัน และ 0.142 ล้านตัน ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตยางลดลงในไตรมาสนี้ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดกรีด (พื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก คาดว่าจะเริ่มปิดกรีดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์) และสถานการณ์โรคใบร่วงในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 1 ล้านไร่ จึงส่งผลให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดลดลง ด้านปริมาณการส่งออกยางปี 2565 มีประมาณ 4.218 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03% โดยในไตรมาสที่ 1 คาดว่าจะมีการส่งออกยางประมาณ 1.107 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.29% ในขณะที่สต็อกยางมีแนวโน้มลดลง รวมถึงสต็อกชินเต่าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนให้การส่งออกเพิ่มขึ้น
               ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กล่าวเติมว่า เศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางยังคงขยายตัว เห็นได้จาก ดัชนี PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ GDP ประเทศสหรัฐอเริกา ญี่ปุ่น EU ยังคงขยายตัวอยู่เหนือระดับ 50 ส่วนประเทศจีนถึงจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ประกอบกับอุตสาหกรรมยางล้อเพิ่มการผลิตสูงขึ้น ยอดขายรถยนต์ในปี 2564 มี 77.747 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 4.6% โดยเฉพาะจีนยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น 4.3% ด้าน ANRPC คาดว่าการผลิตยางทั้งโลกประมาณ 14.554 ล้านตัน และปริมาณการใช้จะอยู่ที่ 14.398 ถึง 14.822 ล้านตัน ภายใต้สมมติฐานว่าการใช้จะขยายตัวร้อยละ 2-5 ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าในปี 2565 การผลิตน้อยกว่าปริมาณความต้องการใช้ยางด้านโอกาสที่ช่วยสนับสนุนยางพาราในปีนี้ ได้แก่ ฤดูกาลและสภาพอากาศ การแพร่ระบาดของ COVID- 19 ทำให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางและชุด PPE มากขึ้น กระแสการลดโลกร้อน ทำให้มีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ความต้องการยางล้อก็เพิ่มขึ้นด้วย และประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราในปริมาณเพิ่มมากขึ้น เช่น ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง สายยาง ด้านความท้าทายของยางพารา ที่เป็นอุปสรรคต่อปริมาณการใช้ยาง ได้แก่ การขาดแคลนชิปSemiconductor ส่งผลต่อปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ต้นทุน
การขนส่งที่แพงขึ้น การเคลียร์สินค้าช้ากว่าปกติ ส่งผลต่อ Supply Chain
               นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ RUBBER WAY เป็นความร่วมมือระหว่าง กยท. กับ บริษัท RUBBER WAY PTE Ltd. โดยมีบริษัทผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่ของโลกให้การสนับสนุน ได้แก่ กลุ่มมิชลินและคอนติเนนเทิล โดยใช้แอพพลิเคชั่น RUBBER WAY เป็นเครื่องมือในการสำรวจข้อมูลนำมาจัดทำแผนที่ประเมินความเสี่ยง 4 ด้าน คือ การให้ความเคารพต่อบุคคล ในเรื่องการจ้างงาน ค่าจ้าง แรงงาน ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย รวมถึงระบบการร้องเรียน การดูแลสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและการรักษาป่าและการครอบครองที่ดิน การอบรมด้านการเกษตร และ ความโปร่งใสในการค้า ทั้งหมดนี้ เพื่อให้มีแนวทางในการพัฒนายางพาราสู่ความยั่งยืนตามความต้องการของผู้ใช้ยางหลักของโลก รวมไปถึงการสร้างโอกาสในการจำหน่ายยางตรงสู่ผู้ผลิตยางล้อ โดยการดำเนินงานในปี 2565 กยท. มีแผนการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่พนักงาน กยท. ทั้ง 7 เขต จำนวน 700 คน และสำรวจข้อมูลของเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 155,348 ราย โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 46,604 ราย (ร้อยละ 30 ของกลุ่มเป้าหมาย) และปี 2566 จำนวน 108,744 ราย (ร้อยละ 70 ของกลุ่มเป้าหมาย)
            นอกจากนี้ กยท. ได้นำ Mobile Application ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อให้บริการแก่สมาชิกเกษตรกรชาวสวนยาง และประชาชนทั่วไป โดยใช้ชื่อโครงการว่า "โครงการความร่วมมือจัดทำเครื่องมือเพื่อการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ให้กับสมาชิกผ่านรูปแบบ Mobile Application” ร่วมกับ บ. วี บิลด์ แอนด์ โอเปอร์เรต จำกัด เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการบริการต่างๆ ของ กยท. เช่น การประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ การแจ้งเตือนที่สำคัญ การรับเรื่องร้องเรียน การแจ้งปัญหา การสำรวจความคิดเห็นจากเกษตรกร การเผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ รวมไปถึงการสนับสนุนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากหน่วยงานภาครัฐและความร่วมมือเอกชนที่เข้าร่วม โดยพัฒนารูปแบบการสื่อสารให้มีความสะดวกรวดเร็ว กลุ่มเป้าหมายและผู้บริโภคเข้าถึงง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ผ่านทาง Smart Phone Application และ Platform ต่างๆ ด้วย
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์
« Back