กยท. เดินเครื่อง "โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท ย้ำผู้ประกอบกิจการยาง สถาบันเกษตรกรฯ รายย่อย สามารถร่วมโครงการฯ ได้ พร้อมเปิดให้ยื่นคำขอ ตั้งแต่ 1 เม.ย. นี้ หวังเกิดการหมุนเวียนผลผลิต และดูดซับยางพาราออกจากระบบ เพิ่มสภาพคล่องและลดต้นทุนทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบกิจการ
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กยท. ได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการ "ชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง(ยางแห้ง) ที่รับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง" โดยผู้ประกอบกิจการยางที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องซื้อยางมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาง ซึ่งมีการกู้เงินระยะสั้นจากสถาบันการเงิน ทั้งนี้ รัฐบาลโดย กยท. จะสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาโครงการ 1 ปี (ไม่เกิน ธันวาคม 2565) วงเงินกู้รวมทั้งโครงการไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนผลผลิต ช่วยดูดซับยางพาราออกจากระบบมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผู้ประกอบการในลักษณะหมุนเวียน เสริมสร้างศักยภาพโครงสร้างอุตสาหกรรมยาง พร้อมแข่งขันทั้งภายในและต่างประเทศในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะต้องรับซื้อยางในราคาเฉลี่ยรายเดือนไม่ต่ำกว่า ราคาประกาศเฉลี่ยของ กยท.
"การดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยางดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบกิจการยางรายใหญ่ที่สามารถเข้าร่วมโครงการเท่านั้น แต่ กยท.มุ่งหวังให้ผู้ประกอบกิจการยางรายย่อย โดยเฉพาะสถาบันเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเข้าก็สามารถร่วมโครงการได้เช่นกัน ผู้ว่าการ กยท. กล่าวย้ำ
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะร่วมโครงการดังกล่าว สามารถส่งคําขอพร้อมเอกสารมาที่ ฝ่ายอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย เลขที่ 50 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือ E-mail: raot202@gmail.com หรือสามารถยื่นเอกสารด้วยตัวเองในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่ วันที่ 1 - 30 เมษายน 2565 โดยจะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ที่ซื้อยางมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน ยางแผ่นผึ่งแห้ง ยางเครป ยางคอมปาวด์ ยางผสม ยางสกิม ไม่ใช่เป็นการดําเนินการรวบรวมผลผลิตเพื่อจําหน่าย เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตค้ายาง ใบอนุญาตตั้งโรงทํายางตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 และมีการรายงานข้อมูลบัญชียางให้กับกรมวิชาการเกษตร
นอกจากนี้จะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือหนังสือรับรองจากสํานักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่ (แล้วแต่กรณี) แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นผู้ประกอบกิจการยางซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย และมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นมากกว่า 50% ของ ทุนจดทะเบียน และสามารถขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้โดยที่สถาบันการเงินนั้นๆ รับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กองส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยาง ฝ่ายอุตสาหกรรมยาง กยท. โทร 02 579 1576 ต่อ 303, 313
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวต่อว่า เมื่อผู้ประกอบการยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว คณะกรรมการบริหารโครงการของ กยท. จะเป็นผู้พิจารณากําหนดวงเงินจัดสรรของผู้ประกอบกิจการยาง โดยพิจารณาจากข้อมูลบัญชีการซื้อยางตามแบบยาง 5 ของกรมวิชาการเกษตร กําหนดให้วงเงินจัดสรรไม่เกินมูลค่าซื้อยางเฉลี่ยรายเดือนที่ใช้ซื้อจริงในปี 2564 และไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต่อราย จากนั้นคณะกรรมการบริหารโครงการพิจารณาอนุมัติเงินชดเชยดอกเบี้ยของผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ กยท.จะขอรับจัดสรรงบประมาณจาก
สํานักงบประมาณ และจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยแก่ผู้เข้าร่วมโครงการเมื่อสิ้นสุดโครงการ
นอกจากนี้ สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง สหกรณ์ทุกประเภท กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ที่ต้องการขอรับสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อยางพาราเกษตรกรฯ และจัดหาปัจจัยการผลิต สามารถเข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง (วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท) โดยยื่นเอกสารขอสนับสนุนสินเชื่อผ่าน กยท. เพื่อพิจารณาคุณสมบัติ ก่อนส่งเรื่องต่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พิจารณาอนุมัติสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรได้โดยทันที
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.