อลงกรณ์ นั่งหัวโต๊ะ ประชุมร่วม กยท. ติดตามสถานการณ์ตลาดยางในประเทศคู่ค้าสำคัญ ตามมาตรการแก้ไขปัญหาและรักษาเสถียรภาพราคายาง

          เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง ได้จัดประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการค้าและการลงทุน นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด นายเมฆินทร์ เอี่ยมสอาด คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมรัษฎา อาคาร 2 ชั้น 2 การยางแห่งประเทศไทย บางขุนนนท์ กรุงเทพฯ ผ่านระบบ การประชุมทางไกลออนไลน์ Zoom Cloud Meeting ในที่ประชุมได้รายงานถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดยางพารา ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยมุมมองทูตเกษตร จากสหภาพยุโรป กรุงโรม กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน กรุงโตเกียว กรุงจาการ์ต้า และ ลอสแอนเจลิส
         จากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ข้อมูลต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเสถียรภาพและราคายาง ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าหลักของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อยางรายใหญ่ของโลก ตลอดจนการเกิดปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์สงครามฯ ดังกล่าว อาจเป็นปัจจัยบวกต่อการใช้ยางธรรมชาติที่สูงขึ้น เนื่องจากราคายางสังเคราะห์ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในขณะนี้
         นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย เผยถึงการสถานการณ์ยางพาราว่า ผลผลิตในเดือนมีนาคม 2565 จะมีปริมาณยางออกสู่ตลาด 0.161 ล้านตัน และเดือนเมษายน 2565 มีปริมาณ 0.098 ล้านตัน เนื่องจากเป็นช่วงปิดกรีดของประเทศไทย ด้านการส่งออกในเดือนมกราคม 2565 มีปริมาณการส่งออก 0.380 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 33.83 สำหรับเดือนมีนาคม 2565 คาดว่าจะมีการส่งออก 0.362 ล้านตัน และในเดือนเมษายน 2565 คาดว่าส่งออกอยู่ที่ 0.347 ล้านตัน โดยจีนยังคงเป็นประเทศที่ไทยส่งออกยางมากที่สุด และในปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดทั้งในสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
          นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลเรื่อง Supply side ด้านการปลูกแทนพื้นที่ยางพาราและเป้าหมายการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกแทน ปี 2565 ของการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการ พื้นที่รวม 200,000 ไร่ และได้ดำเนินการปลูกแทนไปแล้ว จำนวน 150,641.15 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 75.32 แบ่งออกเป็น การปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดี จำนวน 83,645.10 ไร่ ไม้ยืนต้น จำนวน 54,356 ไร่ เกษตรกรรมยั่งยืน จำนวน 6,536.35 ไร่ และแบบสวนยางยั่งยืน จำนวน 6,103.70 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มีนาคม 2565) ต่อมา ที่ประชุมได้รายงานถึงความคืบหน้าโครงการจัดตั้งพื้นที่บริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ (Rubber Valley) เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป้าหมายที่มีศักยภาพรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 2565 โดย นายอลงกรณ์ ได้ให้ข้อเสนอแนะในการกำหนดรูปแบบการบริหารโครงการว่า ควรมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าจะเป็นการบริหารจัดการในรูปแบบใด ยกตัวอย่างเช่น การบริหารแบบบริษัทร่วมทุน และควรมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ไปพร้อมกับการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมยางพาราด้วย เช่น ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ เป็นต้น
         จากนั้น ที่ประชุมรายงานการดำเนินการเก็บข้อมูลผลผลิตยางพาราและรายได้เฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรกรผู้ปลูกยางในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนตัวชี้วัดด้านผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง ตามแผนวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย ระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2564 - 2570) ตามยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยในปีงบประมาณ 2565 การยางแห่งประเทศไทย จะดำเนินการเก็บข้อมูลผลผลิตยางพาราและรายได้เฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรกรผู้ปลูกยางในประเทศไทย จากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ในพื้นที่ 45 จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรให้สูงขึ้น
        ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการดำเนินงานเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC:National Agriculture Big Data Center) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลกลางของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และการพัฒนาฐานข้อมูล Big Data ในการนำมาใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานต่าง ๆ ในยุค Digital Transformation เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และแม่นยำ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
« Back