กยท. เตือนชาวสวนยาง จับตาโรคยางช่วงหน้าฝน หากพบโรครีบแจ้ง กยท. พื้นที่เข้าตรวจสอบทันที

          การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งเตือนชาวสวนยาง จับตาโรคยางพาราช่วงหน้าฝน ย้ำเกษตรกรหมั่นสังเกตสวนยางของตน พร้อมแนะวิธีป้องกันและกำจัดโรคก่อนลุกลามเสียหาย
          ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวเตือนพี่น้องเกษตรชาวสวนยางว่า ขณะนี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว ซึ่งโรคที่จะตามมาในช่วงหน้าฝนและส่งผลเสียต่อยางพาราหลักๆ ได้แก่ โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum โดยอาการของโรค ระยะแรกใบจะเป็นรอยสีเหลืองกลม ต่อมาจะเป็นลักษณะช้ำดำกลมขนาดใหญ่ และเนื้อเยื่อเปลี่ยนเป็นแห้งสีน้ำตาลซีด แผลเรียบโครงสร้างเนื้อเยื่อใบที่เป็นแผลแห้งยังคงสมบูรณ์ รอบแผลไม่มีสีเหลืองล้อมรอบ ใบเหลือง ในสภาพที่เหมาะสมใบร่วงอย่างรวดเร็ว สำหรับใบยางที่ร่วงแห้งอยู่บนพื้นดิน จะเห็นลักษณะแผลกลมซีดขาวขนาดใหญ่ โรคนี้เข้าทำลายใบแก่ทุกช่วงอายุยาง หากเป็นต้นยางเล็กที่เป็นรุนแรงอาจทำให้ต้นยางตายอย่างรวดเร็ว
         อย่างไรก็ตาม หากพบโรคให้รีบดำเนินการป้องกันกำจัด ดังนี้ กรณีต้นยางเล็กให้รีบกำจัดใบที่เป็นโรค โดยการเก็บใส่ถุง นำไปเผาในถังปิด และฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรากลุ่ม ไตรอะโซลส์ (triazoles) เช่น โพรพิโคนาโซล + ไดฟิโนโคนาโซล โพรพิโนโคนาโซล เฮกซะโคนาโซล หรือ คาร์เบนดาซิม อย่างน้อยทุก 15 - 30 วัน กรณีแปลงยางต้นใหญ่ให้ใช้สารดังกล่าว ฉีดพ่นด้วยเครื่องฉีดพ่นแรงดันสูง โดรน หรือแอร์บล๊าส ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน อย่างน้อยทุก 1 - 1.5 เดือน หมั่นกำจัดวัชพืชในสวนยางให้เตียนโล่งอยู่เสมอเพื่อลดแหล่งแพร่ขยายเชื้อ พร้อมใส่ปุ๋ยบำรุงสวนยางสม่ำเสมอเพื่อให้ต้นยางเจริญแข็งแรง
        นอกจากนี้ โรคอีกชนิดหนึ่งที่พบมากเช่นกัน คือ โรครากขาว ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคตั้งแต่เริ่มปลูก หากละเลยไม่มีการจัดการจะทำให้ต้นยางตายเพิ่มขึ้น การจัดการโรครากขาวช่วงการเตรียมแปลงปลูกเกษตรกรควรกำจัดตอไม้/รากไม้ออกจากแปลงปลูกให้มากที่สุด และไถหน้าดินตากแดดเพื่อให้แหล่งเชื้อย่อยสลาย และลดเชื้อที่อยู่ในดิน กรณีสวนยางเก่าเคยเป็นโรคชนิดนี้มาก่อน ก่อนปลูกใหม่ให้ผสมกำมะถันผงกับดินปลูกอัตรา 100-200 กรัม ทิ้งไว้ในหลุมก่อนปลูกอย่างน้อย 15 วัน หรือใช้ปุ๋ย แอมโมเนียมซัลเฟต ผสมดินปลูกอัตรา 200-300 กรัม โรยและกลบรอบต้นตามแนวทรงพุ่ม 4 เดือน/ครั้ง ในช่วงที่มีความชื้น 1 - 3 ปีแรก
         ผอ.สวย.กยท. กล่าวย้ำว่า การจัดการโรครากขาวหลังการปลูก ควรตรวจสอบต้นยางสม่ำเสมอ หากพบต้นเป็นโรคให้กำจัดออกหรือรักษาตามอาการ ต้นที่เป็นอาการใบเหลืองและตายให้ตัดต้นขุดรากออก ต้นยางที่แสดงอาการเล็กน้อยและต้นใกล้เคียงต้นเป็นโรคใช้สารเคมีกำจัดเชื้อรากลุ่ม ไตรอะโซลส์ (triazoles) ผสมน้ำราดบริเวณโคนต้น หรือในคูที่ขุดล้อมบริเวณที่เป็นโรค ทั้งนี้ หากเกษตรกรชาวสวนยางต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมให้ติดต่อ กยท. ในพื้นที่ เพื่อเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการโรคต่อไป
« Back