เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) จัดงาน Pitching & Exhibition โครงการ ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ไปสู่การเป็น Start up ด้านยางพารา ประจำปี 2565 นำเสนอผลงานของผู้ผ่านการคัดเลือก 34 ทีม พร้อมตัดสินการแข่งขัน Pitching ผลงานเพื่อพัฒนาสู่การทำธุรกิจ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท.จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ไปสู่การเป็น Start up ด้านยางพารา ประจำปีงบประมาณ 2565 (Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU) ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างการยางแห่งประเทศไทยภาคใต้ตอนล่างและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยให้การสนับสนุนงบประมาณ ห้องปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญ และองค์ความรู้ ในเรื่องเทคโนโลยียาง เพื่อเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้มีการรับสมัครและคัดเลือกผลงานที่เข้ารอบสุดท้าย จำนวน 34 ทีม โดยทุกทีมได้ผ่านการอบรมบ่มเพาะจากทีมที่ปรึกษาเพื่อให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ สามารถ ต่อยอดทั้งในเรื่องของนวัตกรรมการแปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์การวิจัยต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเจรจาซื้อขาย การค้า ทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มมูลค่าสินค้า พัฒนาให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรภายใต้นโยบาย BCG Model ของกระทรวงเกษตร
และสหกรณ์
ผศ.ดร.นิวัฒน์ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โครงการ Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 เป็นเรื่องที่ 2 หน่วยงานได้สร้างกลไกการส่งเสริม บ่มเพาะ Start up ด้านยางพารา โดยใช้จุดแข็งเสริมกัน ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย นวัตกรรม มาต่อยอดในการประกอบธุรกิจในการแข่งขันกับโลกอนาคต ซึ่ง มอ. มีคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านยางพาราและศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลากหลายมิติ พร้อมกับงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่มากกมาย และที่สำคัญ มีความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาให้แก่ Start up SMEs กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อการก้าวสู่โลกธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
นายสุรชัย บุญวรรโณ กล่าวว่า ภายในงานจัดให้มีกิจกรรมบนเวทีสำหรับการ Pitching ผลงาน 3 ประเภท ได้แก่ โปรแกรม Product to Global Market (P2GM) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราที่อยู่ในตลาดเพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ จำนวน 3 ทีม ผู้ชนะคือ ทีม DEECO รองเท้าโคจากยางพารา โปรแกรม Product to Market (P2M) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางพาราเข้าสู่ตลาด จำนวน 5 ทีม ผู้ชนะคือ ทีม UPCYDE หนังเทียมวัสดุทางการเกษตรและยางพารา และ โปรแกรม Idea to Prototype (I2P) การมีไอเดีย/แนวคิดธุรกิจเพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางพารา จำนวน 12 ทีม ผู้ชนะประเภท Idea From Design คือ
ทีม COCO CAT SCRATCHER ที่ลับเล็บแมวจากวัสดุ TPNR และผู้ชนะประเภท Product/Service ผู้ชนะคือ ทีม Rubber Floting ทุ่นลอยน้ำ และนิทรรศการประกวดผลิตภัณฑ์จากโปรแกรม Design Contest (I2D) การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุสานยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก จำนวน 16 ทีม ผู้ชนะประเภทชุมชนคือทีม กลุ่มทะเลน้อยลำปำ ชุดผลงาน กระเป๋าสืบสาน และผู้ชนะประเภท บุคคลทั่วไป คือทีม เดอะริช เฮ้าส์ ไอวาย แอนด์ คราฟท์ ชุดผลงาน Green Ocean นอกจากนี้ มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากรุ่นพี่ Batch 1 บูธสินค้าและผลิตภัณฑ์จากเอกชน อีกทั้ง กิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ พบปะกับเหล่านักลงทุนที่พร้อมจะช่วยผลักดันนวัตกรรม
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.