วันนี้ (9 ธ.ค. 65) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดประชุมสรุปผลการดำเนินงานโครงการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของยางธรรมชาติในประเทศไทย ร่วมกับผู้บริหารจากบริษัทมิชลิน บริษัทคอนทิเน็นทัล RUBBERWAY PTE LTD. และผู้บริหารจาก กยท. ทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมรัษฎา การยางแห่งประเทศไทย พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางทำสวนยางพาราอย่างยั่งยืนสร้างมาตรฐานการผลิตสู่ระดับโลกภายใต้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าการประชุมในวันนี้เป็นการสรุปผลการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของยางธรรมชาติในประเทศไทย จากการสอบถามข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยาง (ประเภทเจ้าของสวน) ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 155,347 ราย โดยการประเมินแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ 1) การให้ความเคารพต่อบุคคลในเรื่องการจ้างงาน ค่าจ้าง แรงงาน ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย รวมถึงระบบการร้องเรียน 2) การดูแลสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศและการรักษาป่าและการครอบครองที่ดิน 3) การอบรมด้านการเกษตร และ 4) ความโปร่งใสในการค้า ซึ่งจากการประเมินพบว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำทั้ง 4 ด้าน ถือเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนายางพาราสู่ความยั่งยืน ลดความเสี่ยงเรื่องผลผลิต รวมถึงการปรับปรุงการทำงานของเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยให้ผลิตยางตามแนวทางที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของระบบการจัดการสวนยาง พร้อมเปิดโอกาสการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนในเวทีระดับโลก
"กยท. ยังคงเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจ และเพิ่มความเข้มข้นในการสื่อสารผ่านกระบวนการอบรม และการประชาสัมพันธ์อยู่เสมอ รักษาห่วงโซ่อุปทานด้านยางพาราให้มีมาตรฐาน ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางในด้านการผลิตยางพาราให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ และช่วยพัฒนาให้เกษตรกรชาวสวนยางมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมติดตามความเสี่ยงในแต่ละภูมิภาคอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการเพิ่มระดับความเสี่ยงในอนาคต นายณกรณ์กล่าวทิ้งท้าย.
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.