กยท.จัดอบรม ลับคม พนักงานในพื้นที่รับผิดชอบยางทั่วประเทศ รวม 127 คน

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ห้องประชุมโรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาพนักงาน กยท. จำนวน 127 คน จาก กยท.ทั่วประเทศ "โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร(Smart Farmer)” มี นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ กล่าวรายงานว่า การอบรมครั้งนี้เป็นการติดอาวุธให้พนักงาน กยท.ผู้รับผิดชอบปฏิบัติงานในพื้นที่ให้มีความรู้ด้านต่างๆ อาทิ แนวทางการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ - ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร - ต้นแบบเทคโนโลยีแปรรูปน้ำยางสดด้วยเทคโนโลยีสะอาดและยั่งยืน SSR – เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร เป็นต้น โดยมีวิทยากรภายนอก จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ - จาก สวทช. (MTECH) - บริษัท คูโบต้า โซลูชั่น จำกัด และวิทยากรภายใน กยท. เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด การประกอบธุรกิจ การส่งเสริมสนับสนุนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วย BCG model การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้และพัฒนาเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ให้สามารถร่วมทำธุรกิจการค้าทั้งในและต่างประเทศ ก้าวไปสู่ภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางสู่มาตรฐานสากล ตามนโยบายการพัฒนาชาวสวนยางเป็น Smart Farmer – Smart Group และ Smart Enterprise ที่เข้มแข็งในระดับสากลในอนาคต โดยนายกุลเดชฯ ได้ฝากความหวังไว้กับพนักงาน กยท.ผู้เข้าอบรม จะต้องทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายพัฒนายางพาราของรัฐ ลงไปสู่การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง สามารถพัฒนาตนเองให้มีความเข้มแข็ง เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอาชีพชาวสวนยางตลอดไป
 
นายณกรณ์ ตรรกวิพัท ผู้ว่าการ กยท.ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านบุคลาการ การจัดสวัสดิการ และการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน ระหว่างเข้าเยี่ยมการฝึกอบรม โดยเฉพาะความคืบหน้าภารกิจสำคัญของ กยท. อาทิ โครงการ Rubber Way โครงการคาร์บอนเครดิต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรฯ การรับรองมาตรฐาน FSC แก่เกษตรกรชาวสวนยางไทย หากสวนยางรายใดได้รับการรับรอง FSC จาก กยท. แสดงว่าเป็นสวนยางพาราที่ผ่านมาตรฐานสากล มีการตรวจสอบย้อนกลับได้ ดังนั้น ผลิตผลจากสวนยาง FSC จะมีราคาสูงกว่าสวนยางปกติ ทั้งนี้ กยท.จะจัดทำใบเซอร์ (Certification) 1 ใบ เพื่อให้ใช้ได้ทั้งประเทศ ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดทำใบเซอร์นำร่องที่จังหวัดสตูล เป็นต้น เพื่อให้บุคลากร กยท. นำข้อมูลข้อเท็จจริง กลับไปถ่ายทอดให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกรชาวสวนยางและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่รับผิดชอบของ กยท.ทั่วประเทศได้รับทราบและพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนต่อไป
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
« Back