นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.65 กยท.เปิดห้องประชุมรัษฎา อาคาร 2 ชั้น 2 สำนักงานใหญ่ ถ.บางขุนนนท์ บางกอกน้อย กทม. ให้การต้อนรับ นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา ปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย พร้อมคณะตัวแทนเกษตรกรภาคใต้ 10 คน จากจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยช่วงเช้าได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องการแก้ไขปัญหายางพารา ปาล์มน้ำมันราคาต่ำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน และยื่นหนังสือฉบับเดียวกันให้ กยท.ช่วงบ่าย โดยนายมนัสกล่าวว่า จากมติที่ประชุมเครือข่ายชาวสวนยาง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 1 ธ.ค.65 ให้ยื่นหนังสือเสนอทางแก้ไขปัญหาราคาพืชเศรษฐกิจหลักราคาผันผวนและขาดเสถียรภาพ ต้องปฏิรูปยางพารา ปาล์มน้ำมัน เพื่อให้เกษตรกรดำรงชีพอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยเสนอแนวทางแก้ไข 2 ทาง คือ 1) แนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน (เร่งรัดการชดเชยเงินประกันรายได้ตามนโยบายรัฐ - ให้ภาครัฐคิดต้นทุนการผลิตใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ) 2) แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างมั่นคงและยั่งยืน (ด้านตลาด การแปรรูปยาง การเปลี่ยนรูปแบบส่งเสริมปลูกยางใหม่ ส่งเสริมงบการประกอบอาชีพเสริม - เร่งรัดสิทธิ์พื้นที่ปลูกยางให้ได้ตามข้อกำหนด FSC)
ด้านรองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ ได้กล่าวถึงนโยบายการดำเนินการของ กยท.ที่ต้องเป็นไปตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินและกฎระเบียบสากลที่เอื้อประโยชน์ให้ชาวสวนยางเป็นสำคัญ โดยแจ้งเหตุผลการปรับแก้ระเบียบการจ่ายเงินอุดหนุนและเงินกู้ยืม ตาม พ.ร.บ.กยท.มาตรา 49(3) เนื่องจากต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน มีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจน สามารถบริการเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรอย่างทั่วถึง รวมทั้งแจ้งข้อมูลการขยายเวลาส่งใช้เงินกู้ในโครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำ เพื่อประกอบอาชีพเสริมใหม่ จากเดิมส่งใช้เงินคืนภายใน 2 ปี เป็น 3 ปี การส่งเสริมสวนยางปลูกแทน แบบ 3 (สวนยางยั่งยืน) ที่สามารถปลูกยางเป็นหลัก ควบคู่กับการปลูกพืชอื่น หรือทำปศุสัตว์ทำประมงพร้อมกันได้ การปลูกพืชร่วมยาง เป็นต้น โดยนายสุขทัศน์ฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สำนักตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เพิ่มชนิดยางในการซื้อ ขายยางผ่านตลาดมากขึ้น เช่น ยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางห่อพลาสติก และยางแท่ง ซึ่งจะนำไปซื้อขายในตลาดข้อตกลงส่งมอบจริงของประเทศไทย (PFCM) ในเร็วๆ นี้ สำหรับ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 กยท.ได้ดำเนินการสรุป ส่ง สศก. เพื่อนำเสนอ กนย.ในเร็วๆ นี้ และถ้าเสนอ ครม.ได้เร็ว กยท.ก็สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะ กยท.ได้ประชุมซักซ้อมความเข้าใจกับผู้บริหาร/พนักงาน กยท.ทั่วประเทศไว้พร้อมแล้ว
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.