วันนี้ (20 ม.ค.66) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วม 6 หน่วยงานรัฐ เอกชน ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI : Letter of Intent) ประกาศเจตนารมณ์บูรณาการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราทั้งห่วงโซ่อุปทาน ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ร่วมแก้ปัญหาและยกระดับพัฒนายางพารา ตามนโยบายกระทรวงการคลัง เริ่มต้นนำร่องกับนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง มี รมว.คลัง เป็นประธาน และสักขีพยานในพิธีลงนาม LOI ณ เทศบาลเมืองบ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท. ได้เข้าร่วมพิธีลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI - Letter of Intent) โครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา (CARE : Capital Flow in Rubber Industrial Estate) ระหว่าง 6 หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ณ เทศบาลเมืองบ้านสวน อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี โดยมี 3 หน่วยงานภาครัฐ (ธนาคารเพื่อส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ) 3 หน่วยงานภาคเอกชน (หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (สภาหอฯ ) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน)/นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง) มี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนาม นายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์และประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เป็นสักขีพยาน
โครงการ CARE เป็นนโยบายของกระทรวงการคลัง เล็งเห็นว่าไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยาง/สินค้ายาง เป็นอันดับ 1 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกยาง/ผลิตภัณฑ์ยางมากกว่า 680,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น เพื่อบูรณาการภาคอุตสาหกรรมยางพาราทั้งห่วงโซ่อุปทานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และเตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าของประเทศคู่ค้า ทั้ง 6 หน่วยงานข้างต้น จึงแสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความร่วมมือช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มยางพารา สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางทุกระดับ ในการร่วมบูรณาการภารกิจที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 6 หน่วยงานร่วมกัน โดยหนังสือแสดงเจตจำนงนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2566 สิ้นสุดในวันที่ 19 มกราคม 2569
"การยางแห่งประเทศไทย มีภารกิจหลักในการสนับสนุนผู้ประกอบการยางพาราอย่างครบวงจร ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ โครงการนี้ทำให้เชื่อมั่นว่าจะสามารถเพิ่มโอกาสในด้านการเงิน ด้านการตลาด และการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยได้ เป็นผลดีกับกลุ่ม SMEs ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายชาวสวนยาง จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางและอุตสาหกรรมยางไทยได้อย่างยั่งยืนแน่นอนนายณกรณ์กล่าว
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.