นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันเทรนโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมถึงประเทศผู้นำเข้ายางรายใหญ่ เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยางต้องผลิตมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ ถูกกฎหมายของประเทศผู้ผลิตต้นทาง และมี Due Diligence สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ กยท. จึงพยายามส่งเสริมสวนยางไทยให้เข้าสู่ระบบการรับรองป่าไม้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี ตั้งแต่กระบวนการปลูกสร้างสวนยาง เก็บเกี่ยว แปรรูป โดยกำหนดเป้าหมายพื้นที่สวนยาง 500,000 ไร่ ในปี 2565 และ 15 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี ปัจจุบัน กยท. ผลักดันให้เกิดการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากยางพารามาตรฐานสากลผ่านระบบตลาดยางพาราของ กยท. ซึ่งราคาขายจะสูงกว่าราคายางทั่วไป 6-10 % ทั้งนี้ กยท. โดยฝ่ายเศรษฐกิจยางทำหน้าที่รวบรวมคำสั่งซื้อ (ชนิดยาง ปริมาณ ที่ตั้งของตลาดผู้ซื้อ) ประสานไปยังตลาดกลางฯ ของ กยท. เพื่อหาผลผลิตยางพรีเมียมที่ผ่านมาตรฐานและชนิดยางตรงตามที่ผู้ซื้อต้องการ
ผู้ว่าการการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. ได้รับมาตรฐาน FSC-CoC สำหรับการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจ และตลาดกลางยางพารา พร้อมรองรับการซื้อขายยางพรีเมียมจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง นอกจากนี้ภาคเอกชนหลายแห่งสนับสนุนและร่วมลงนาท MOU ด้านธุรกิจภายใต้ระบบมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนด้านยางพารากับ กยท. และมีออร์เดอร์ยางพรีเมียมในระยะ 1-5 ปี แล้ว
"การซื้อขายยางพรีเมียมผ่านตลาด กยท. ช่วยให้เกษตรกรที่ทำสวนยางตามมาตรฐานสากลมีตลาดรองรับ ขายยางได้ในราคาสูงกว่ายางทั่วไป ด้านผู้ซื้อจะได้รับยางที่มีคุณภาพและมาตรฐานรับรอง ลดความเสี่ยงของปัญหาในกระบวนการผลิต และเพิ่มคุณภาพของสินค้าที่นำยางไปเป็นวัตถุดิบ
ด้านนางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง วิเคราะห์สถานการณ์ว่า ปี 2566 ปริมาณผลผลิตยางโลกลดลงเหลือ 14.310 ล้านตัน เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน โรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) และคาดว่าปริมาณการใช้จะอยู่ที่ 15.563 ล้านตัน ขยายตัวขึ้น 5% เกินกว่าปริมาณผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาดประมาณ 1.25 ล้านตัน ส่วนผลผลิตยางของไทยเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผลผลิตยางลดลงกว่าที่คาดไว้ 26% คาดมีนาคมและเมษายน 2566 มีผลผลิตยาง 177,100 ตัน และ 118,231 ตัน ตามลำดับ ปริมาณการส่งออกยางของไทยปีนี้ประมาณ 4.403 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน แต่จะมีการใช้ยางในประเทศขยายตัวสูงขึ้น 9.9%
ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กล่าวเพิ่มเติมว่า มีหลายปัจจัยบวกที่เข้ามาเสริมให้ทิศทางยางในปีนี้ดีขึ้น เช่น ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมกราคมของจีนปรับตัวขึ้นแตะระดับ 50.1 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว หลังจีนประกาศยกเลิกนโยบาย Zero-COVID เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น กระตุ้นความต้องการยางล้อและยางธรรมชาติ คาดการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์โลกจะเติบโตขึ้น 5.33% อุตสาหกรรมถุงมือยางโลกจะเติบโต 6.9% จึงต้องการยางปริมาณมากเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิต รวมถึงค่าระวางเรือก็เริ่มกลับสู่สภาวะปกติเท่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 และมีปริมาณตู้สินค้าเพียงพอ สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งนี้ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 2.9%
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
FSC Promotional License Holder (PLH) with RAOTs own FSC license code FSC™N003489