ครม. เคาะแล้ว!! อนุมัติประกันรายได้ยาง เฟส 4 จ่ายถึงมือชาวสวนยาง มี.ค. นี้ พร้อม หนุนดอกเบี้ยสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียนกิจการไม้ยางฯ

          วันนี้ (28 ก.พ.66) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะรัฐมนตรีร่วมประชุม มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 วงเงินรวมกว่า 7.6 พันล้านบาท จ่ายเงินถึงมือชาวสวนยางมีนาคมนี้ พร้อมอนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียนผู้ประกอบกิจการไม้ยางฯ ระยะที่ 2
          นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 โดยประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จำนวนทั้งสิ้น 1,604,379 ราย (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,372,865 ราย และคนกรีดยาง 231,514 ราย) คิดเป็นพื้นที่ปลูกยาง รวม 18,183,764.59 ไร่ ซึ่งเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว กำหนดราคาประกันผลผลิตยางแต่ละชนิด ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 2 เดือน (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2565) งบประมาณโครงการฯ รวม 7,643,857,284.15 บาท
          "โครงการนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ในช่วงที่ราคายางผันผวน ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกษตรกร จึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ โดย กยท. ดำเนินโครงการประกันรายได้มาแล้ว 3 ระยะ ตั้งแต่ตุลาคม 2562 วงเงินรวมทั้งสิ้น 46,682.88 ล้านบาท บรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบในการดำเนินชีวิตของเกษตรกรได้ ทั้งนี้ โครงการประกันรายได้ เฟส 4 จะเริ่มจ่ายเงินถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางได้ภายในมีนาคม นี้” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว
          นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม. อนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ระยะที่ 2 ระยะเวลาโครงการ 2 ปี นับจากวันที่ ครม. อนุมัติโครงการฯ โดยรัฐบาลสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี จำนวนไม่เกิน 600 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท ให้แก่กิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ภายใต้เงื่อนไขรับซื้อไม้ยางราคาไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท/ตัน ทั้งนี้กำหนดระยะเวลาในการชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการ 1 ปี แต่ชดเชยไม่เกินระยะเวลาดำเนินโครงการฯ
 
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
« Back