กยท. จัดงานวันยางพาราแห่งชาติ ปี 66 รำลึกบิดาแห่งยางพาราไทยชู เทคโนโลยีนวัตกรรมยาง เพื่อพัฒนายางพาราทั้งระบบ

        การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตตรัง จัดงานยางพาราแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 (Rubber Expo 2023) โดยในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย และ ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ ม.อ. ร่วมเปิดพิธี ณ ศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ม.อ. ตรัง มุ่งเน้นถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมยาง เพื่อพัฒนายางพาราทั้งระบบ ตามแนวทาง BCG Model พร้อมบูรณาการเครือข่ายพันธมิตรยางพาราทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
         นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า กยท. จัดงานขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณูปการของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งยางพาราไทย" โดยต้องการให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ และอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญในการจัดงานครั้งนี้ คือ เผยแพร่องค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและการเก็บเกี่ยว (ต้นน้ำ) เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิต (กลางน้ำ) เทคโนโลยีนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัย (ปลายน้ำ) รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง นักวิจัยด้านยางพารา ผู้ประกอบการภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้ เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางและผู้เข้าร่วมชมงาน สามารถนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตยาง ให้ได้มาตรฐานและสอดคล้องตามแนวทาง BCG Model รวมทั้งมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดจนประชาชนทั่วไปในจังหวัดตรัง และพื้นที่ใกล้เคียง โดยหวังจะพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาสและรายได้ นำความมั่นคงไปสู่ชุมชนในท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนยางอย่างยั่งยืน และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
         นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. คัดเลือกสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางดีเด่น ระดับจังหวัด เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและเครือข่ายดีเด่น ระดับเขต รวมทั้งสิ้น 13 รางวัล โดยพิจารณาจากเกษตรกรที่พัฒนาสวนยางเป็นพื้นที่ต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่ สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่น สามารถเพิ่มรายได้จากการประกอบอาชีพเสริม ส่วนสถาบันเกษตรกรฯ ต้องมีศักยภาพในการบริหารโดยเพิ่มจำนวนสมาชิกได้ มีระบบรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกที่มีมาตรฐาน มีความเชื่อมโยงเครือข่ายและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันอื่นๆ และสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีมาตรฐาน เป็นต้น ทั้งนี้ กยท. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านธุรกิจ (MOU) กับบริษัท ยางไทยปักษ์ใต้ จำกัด โดยมุ่งหาตลาดรองรับผลผลิตยางจากสวนยางที่มีมาตรฐานสากล ตามที่นานาชาติยอมรับ สอดคล้องกับนโยบายของ กยท. ซึ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกสร้างและจัดการสวนยางตามมาตรฐาน MOU นี้จึงเป็นส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจ ตลาด และแนวทางจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนระหว่างภาครัฐและเอกชน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้ายางพาราของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการของไทย
         ภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ด้านวิชาการมีการจัดเสวนาให้ความรู้แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยาง การสร้างโอกาสการแข่งขันยางพาราเพื่อรองรับมาตรฐานสวนยางยั่งยืน ส่งเสริมการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยียาง ผ่านการฝึกปฏิบัติจริงด้วยการอบรมทำผลิตภัณฑ์จากยางพารา การจัดแสดงงานผลงานวิจัย นวัตกรรมแปรรูปยางพารา การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปยางโดยหน่วยธุรกิจ ของ กยท. และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดตรัง รวมถึงกิจกรรมการแข่งขันและการประกวดที่น่าสนใจ ได้แก่ การประกวดนวัตกรรมจากยางพาราและไม้ยางพารา การประกวดยางแผ่นรมควัน การแข่งขันกรีดยาง รวมถึงการประกวดเทพบุตรและธิดาชาวสวนยาง ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเที่ยวชมงานได้จนถึงวันที่ 10 เมษายน นี้
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
« Back