กยท. Go live ระบบ Thai Rubber Trade ซื้อขายยางผ่านตลาดกลางฯ เน้นการเชื่อมโยงข้อมูล โปร่งใส ตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตยางได้

          วันนี้ (3 พ.ค. 2566) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เริ่มใช้งาน Thai Rubber Trade ครั้งแรก เพื่อซื้อขายยางภายใต้โครงการพัฒนาตลาดยางพาราให้เป็น Digital Platform ณ สำนักงานตลาดกลางยางพารา จ.เชียงราย ยกระดับระบบการซื้อขายยางพาราให้เชื่อมโยงกับตลาดกลางยางพาราทั่วประเทศ เพิ่มความโปร่งใส รองรับข้อมูลการซื้อขายที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้
          นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. กล่าวว่า กยท. ดำเนินการโครงการพัฒนาตลาดยางพาราให้เป็น Digital Platform ผ่านระบบ Thai Rubber Trade โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการซื้อขายประมูลยางพารา ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั่วประเทศ ผ่าน Mobile Platform และ Web Application ที่แสดงข้อมูลการซื้อขาย แบบ Real Time เพื่อลดระยะเวลาในการทำธุรกรรม โดยผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อยางตามความต้องการได้จากตลาดกลางยางพาราทั้ง 8 แห่ง และตลาดเครือข่ายกว่า 200 ตลาด
           ระบบ Thai Rubber Trade เป็นการนำเทคโนโลยี Block chain เข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบให้สามารถตรวจสอบการโอนเงิน ลดความเสี่ยงการปลอมแปลงบัญชี และจัดทำสัญญาต่างๆ ด้วย Smart Contact โดยกิจกรรม Go live ระบบ Thai Rubber Trade ครั้งนี้เป็นการเริ่มใช้งานระบบการซื้อขายยางครั้งแรกที่ สำนักงานตลาดกลางยางพารา จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งสมาชิกตลาดเครือข่าย สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบการที่ทำการซื้อขายผ่านระบบ ร่วมประชุมเพื่อรับทราบนโยบาย ทำความเข้าใจระบบ นำไปสร้างโอกาสทางการตลาด เกิดการใช้งานระบบได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ระบบยังเข้ามาช่วยสร้างราคาอย่างเป็นธรรม เพิ่มโอกาสขยายช่องทางการตลาดให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรองรับการตรวจย้อนกลับของผลผลิตยางพาราได้
           "กยท. เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตของยางพารา เพื่อรองรับกฎระเบียบของ EU (EUDR : EU Deforestation-free Regulation) ที่เน้นย้ำเรื่องผลผลิตต้องมาจากพื้นที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า และไม่รุกล้ำป่าสงวน โดยระบบ Thai Rubber Trade จะเชื่อมโยงทะเบียนสมาชิกผู้ขายกับทะเบียนเกษตรกร จึงทำให้ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่ายางพาราที่ซื้อจากตลาดกลางของ กยท. และตลาดเครือข่าย สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังพื้นที่สวนยางที่เป็นแหล่งผลิตได้ และ กยท. มีแผนจะนำระบบฯ ไปใช้กับตลาดยางพารา กยท. อีก 3 แห่ง ได้แก่ จ.ระยอง จ.บุรีรัมย์ และ จ.หนองคาย ภายในเดือนพฤษภาคม และครบทั้ง 8 ตลาดทั่วประเทศภายในปีงบประมาณ 2566 ” นางสาวอธิวีณ์ กล่าว
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์
« Back