กยท. เผยเอลนีโญส่งผลกระทบปริมาณยางประเทศผู้ผลิต แนวโน้มราคาดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก

          เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. นำทีมแถลงบทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพาราไตรมาส 3/2566 ซึ่งมีนางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กล่าววิเคราะห์สถานการณ์ยาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย
          นางสาวอธิวีณ์ เผยว่า จากการชะลอตัวของสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั่วโลก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและยางพาราแปรรูปสะสมระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ปี 2566 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดย กยท. ยังคงเฝ้าระวังแนวโน้ม การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมัน ญี่ปุ่น และจีน เริ่มมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการจัดสรรงบและส่งเสริมการลงทุน การยุติการขึ้นดอกเบี้ย การผ่อนคลายนโยบายการเงิน การปรับขึ้นค่าแรง การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว รวมถึงความต้องการของผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มีมากขึ้น
          นางสาวอธิวีณ์ วิเคราะห์ถึงปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อราคายางว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะแหล่งผลิตยางพาราสำคัญของโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ส่งผลให้ผลผลิตยางพารามีแนวโน้มลดลงร้อยละ 2 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 แม้จะยังมีปริมาณยางในสต๊อกของโลกคงเหลืออยู่ แต่ในระยะถัดไปหากแนวโน้มยางในสต็อกลดลง ประเทศผู้ใช้หันมานำเข้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับ รายงานของ IRSG อ้างว่า ตัวเลขผลผลิตยางสะสมตั้งแต่ มกราคม ถึง มิถุนายน ปี 2566 ในประเทศผู้ผลิตยาง ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้เกิดภาวะอุปทานขาดแคลน (Supply shortage) เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาซื้อขายยางพาราปรับตัวสูงขึ้นได้
          "อุตสาหกรรมยางอาจได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั่วโลก นอกจากนั้น ผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลให้ระดับราคาปรับตัวสูงขึ้นได้ในอนาคต” นางสาวอธิวีณ์ กล่าวสรุป
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
« Back