การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แถลงแนวทางเร่งด่วนขานรับนโยบายรักษาเสถียรภาพยาง รมว.เกษตรฯ เร่งปรับสมดุลยาง-ตรวจสต๊อก ตั้ง สายลับยาง ปราบสินค้าเกษตรลักลอบนำเข้า ดึงภาคเอกชนร่วมลงทุน แปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์ยาง ชี้ทิศทางสถานการณ์ยางไตรมาส 4/66 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. เผยถึงแนวทางการดำเนินงานของ กยท. ตาม 3 นโยบายหลักของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อบริหารจัดการยางพาราให้เกิดเสถียรภาพ ทั้งการปรับสมดุลปริมาณยางพาราในประเทศ การปราบปรามการนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย รวมถึงการดึงภาคเอกชนร่วมลงทุนแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ว่า กยท. ได้ประสานกรมวิชาการเกษตรให้มีการแต่งตั้ง พนักงาน กยท. เป็นเจ้าหน้าที่ร่วมติดตามตรวจสอบสต๊อกยาง โดย กยท.พร้อมเข้าตรวจสอบทันทีหลังมีคำสั่งแต่งตั้งให้อำนาจในการเข้าปฏิบัติงาน ซึ่งจะเร่งปูพรมลงตรวจสอบพร้อมกันทุกจังหวัด และตั้งเป้าให้ กยท. ทุกจังหวัดดำเนินการตรวจสอบให้เสร็จสิ้นพร้อมรายงานผลภายใน 30 วัน รวมถึงจะต้องมีการอัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลยางที่ครอบคลุมทั้งประเทศ (Big Data) ซึ่งรองรับการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ยาง (Traceability) ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการผลักดันมาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิตสินค้าเกษตรที่หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งบริษัทยางล้อยักษ์ใหญ่เริ่มมีการศึกษามาตรการนี้มากขึ้น และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องนี้มากกว่าประเทศอื่น ในส่วนของการปราบปรามการนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย กยท. ได้ตั้งทีม สายลับยาง และได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายเกษตรกรของ กยท. ในพื้นที่กว่า 3,000 คน ทั่วประเทศ ร่วมสอดส่องและเฝ้าระวัง ซึ่งหากพบเบาะแสผู้กระทำผิด จะแจ้งแก่หน่วยงานผู้มีอำนาจดำเนินการจับกุมต่อไป และยังตั้ง จุดตรวจสินค้าเกษตร ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร ตรวจสอบสินค้าเกษตรนำเข้า อีกด้วย นอกจากนี้ กยท. กำลังศึกษา-รวบรวมข้อมูลรูปแบบการลงทุน โดยจะเชิญบริษัทยางล้อและบริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีความพร้อม หารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนแปรรูปยางใช้ในประเทศและนอกราชอาณาจักรต่อไป ซึ่งจะเริ่มหารือนัดแรกโดยเร็วที่สุด
นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง วิเคราะห์สถานการณ์ยางว่า สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) คาดการณ์ว่า ผลผลิตยางธรรมชาติทั่วโลกปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 2.0% แต่น้อยกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2.5% เป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตรายสำคัญ ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง และเวียดนามขาดแคลนแรงงานกรีดยาง ส่วนมาเลเซียและอินโดนีเซียมีการโค่นยางเพื่อปลูกปาล์มมากขึ้น ขณะที่คาดการณ์ความต้องการใช้ยางโลกเพิ่มขึ้น 0.17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากยอดขายรถยนต์ที่ขยายตัวในประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่อย่างจีนและอินเดีย โดยเฉพาะรถยนต์ EV ของจีนที่เติบโตอย่างมาก IMF จึงคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนและอินเดียจะเพิ่ม 5.6% และ 6.3% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบจึงพบว่า ความต้องการใช้ยางโลกมากกว่าผลผลิตยางที่ 0.678 ล้านตัน คิดเป็น 4.4% ส่งผลให้เกิด Over Demand ในอุตสาหกรรมยางโลก เป็นปัจจัยบวกต่อราคายาง สำหรับการส่งออกยางโลก ในเดือน ม.ค. ก.ค. 66 ประเทศสมาชิก ANRPC ส่งออกลดลง 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ไทยยังคงรักษา Market Share ได้ที่ 43% คาดว่าในไตรมาส 4 ปริมาณส่งออกยางธรรมชาติจะอยู่ที่ 1,125,945 ตัน เพิ่มขึ้น 0.48% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น
ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง เผยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจประเทศผู้ใช้ยางว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือน ก.ย. ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน อยู่ที่ระดับ 49.0 50.20 และ 43.4 ตามลำดับ ซึ่งขยายตัวมากกว่าเดือน ส.ค. แม้ว่า PMI ของสหรัฐจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 แต่มีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับ GDP ไตรมาส 3 ของสหรัฐฯ จีน และยูโรโซน ขยายตัวที่ 5% 4.9% และ 0.1% ตามลำดับ สำหรับ GDP ของไทยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.1% เป็นผลจากการออกมาตรการและกฎหมายต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละประเทศ เช่น ญี่ปุ่นเสนอแผนเศรษฐกิจ 3 ปี ลดอัตราดอกเบี้ยเงินได้ ส่งเสริมการลงทุน เพื่อแก้ปัญหาเงินฝืด จีนกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังและการเงิน ตลอดจนกฎหมาย CHIPS Act of 2022 ของสหรัฐฯ ที่ได้สร้างความเข้มแข็งแก่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เติบโตในปีนี้ นอกจากนี้การผลิตรถยนต์โลกเดือน เม.ย. มิ.ย. 66 ทั้ง Light Vehicle และ M/HCV เพิ่มขึ้น 12.3% และ 12.0% ตามลำดับ
"จากปัจจัยบวกด้านผลผลิตยางที่น้อยกว่าคาดการณ์เดิม สวนทางกับความต้องการใช้ยางโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะประเทศผู้ใช้ยางมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายของรัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ ที่มุ่งผลักดันมูลค่าสินค้าเกษตร การจัดการข้อมูลยางพารา เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการให้เกิดสมดุลยางในประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างจริงจัง จนราคายางปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 15 เดือน จึงคาดว่าทิศทางราคายาง ไตรมาส 4/66 มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น นางสาวอธิวีณ์ กล่าวปิดท้าย
นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม กยท. กำหนดจัด "งานเครือข่ายสวนยางยั่งยืนเสริมสร้างเศรษฐกิจไทย RAOT สู่มาตรฐานโลก มุ่งส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกร จัดการสวนยางและแปรรูปยางอย่างยั่งยืน อบรมอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายในงานมีการจัดแสดงโมเดลการจัดการแปลงหรือฟาร์มในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 14 ธันวาคม นี้ ณ ศูนย์การเรียนรู้บุรีรัมย์ โดยคาดว่ามีเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบกิจการยาง ร่วมงานกว่า 1,000 คน
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.