วันนี้ (10 ธ.ค. 66) ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ ลงพื้นที่ จ.ระยอง เยี่ยมชมกระบวนการผลิตล้อยางของ บริษัท หวาอี้ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด และหารือแนวทางความร่วมมือผลิตล้อยางใช้หน่วยงานภาครัฐ พร้อมปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ ส่งยางพาราและสินค้าเกษตรสู่ตลาดจีน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการนำของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจยาง เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยหนึ่งในแนวทางยกระดับยางพาราที่ให้ความสำคัญ คือ การร่วมมือกับภาคเอกชนกำหนดแนวทางความร่วมมือในการลงทุนแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ดังนั้น กยท. จึงได้รับนโยบายจาก รมว.เกษตรฯ ให้ผลิตยางพาราที่มีคุณภาพ ผลักดันให้ยางพารา (ประเภท Raw Material) เข้าสู่กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางใช้ในประเทศ โดยเฉพาะล้อยางที่รัฐบาลผลักดันให้รถยนต์ของหน่วยงานราชการทุกแห่งใช้ล้อรถยนต์จากบริษัทผู้ผลิตยางล้อในประเทศ และต่อยอดไปจนถึงการส่งออก ซึ่งเชื่อมโยงสู่โครงการ One Belt One Road หรือแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบกของจีน ที่สามารถส่งยางจากไทยสู่ประเทศจีนได้ ทั้งนี้ ได้หารือแนวทางความร่วมมือการลงทุนและเยี่ยมชมกระบวนการผลิตยางล้อของบริษัท หวาอี้ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ถือเป็นบริษัทผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ ที่มีตัวแทนขายในต่างประเทศ 3 บริษัท 5 ฐานการผลิต ทำการตลาดไปกว่า 10 ภูมิภาค และโครงข่ายการขายกว่า 100 แห่งทั่วโลก ซึ่งภายหลังจากการหารือภาคเอกชนในวันนี้ จะมีการลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับผู้ประกอบการผลิตยางล้อ เพื่อส่งเสริมการผลิตยางล้อรถยนต์และส่งเสริมการใช้ยางล้อดังกล่าวต่อไป
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ รมว.เกษตรฯ ได้ปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เพื่อส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรไปยังนครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธรัฐรัสเซีย และสหภาพยุโรป ณ สถานีรถไฟมาบตาพุด โดยรถไฟเที่ยวนี้จัดส่งสินค้าเกษตรนำร่อง ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ทุเรียนแช่แข็ง รวมถึงยางพารา ซึ่งจะเดินทางถึงสถานีเฉิงตู ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ก่อนเดินทางต่อเนื่องไปสหพันธรัฐรัสเซีย และสาธารณรัฐโปแลนด์ตามลำดับ ถือเป็นการขับเคลื่อนขยายตลาดสินค้าเกษตรในต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในการเพิ่มโอกาสทางการค้า เพิ่มช่องทางจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรไทยเข้าสู่ตลาดการค้าต่างประเทศได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้พบปะเกษตรกรชาวสวนยาง ร่วมพูดคุย รับฟังความความต้องการของชาวสวนยางในพื้นที่ เพื่อนำไปกำหนดนโยบายและแนวทางช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรต่อไป
"กยท. พร้อมขานรับนโยบายของท่าน รมว.เกษตรฯ โดยจะเร่งขับเคลื่อนการบริหารจัดการยางให้ครอบคลุมทุกมิติ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปยาง เพื่อขยายโอกาสด้านการแข่งขัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับยางพาราทั้งระบบ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ผู้ว่าการ กยท. กล่าว
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.