กยท. ลุยต่อ! เคาะโจทย์วิจัยยางปี ‘68 มุ่งต่อยอด-ขยายผลเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่วงการยาง

วันนี้ (15 ก.พ. 67) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยสถาบันวิจัยยาง จัดประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมกำหนดโจทย์วิจัยยางปี 2568 บูรณาการแลกเปลี่ยนความเห็น พร้อมต่อยอด-ขยายผล สู่ภาคอุตสาหกรรมในอนาคต โดยมี นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ เป็นประธาน และ ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานบอร์ด กยท. ร่วมรับฟังพร้อมให้ข้อคิดเห็น ณ ห้องประชุมปิ่นเกล้า โรงแรมเอสดี อเวนิว (SD Avenue Hotel) เขตบางพลัด
 
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ได้วางแนวทางและเน้นย้ำถึงการคิดค้นและนำเอางานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการจัดการโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราอย่างจริงจัง โดยให้แนวทางการดำเนินการวิจัยแบบ On-Farm Research เจ้าของสวนยางเปิดแปลงทดลองจริงร่วมกับทีมวิจัยภาคเอกชน เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และยังเน้นย้ำในเรื่องของการนำงานวิจัยที่มีอยู่เดิมไปบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง และเกิดประโยชน์กับเกษตรกรมากที่สุด
 
นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ กล่าวว่า การวิจัยเกี่ยวกับยางพารามีหลากหลายประเด็น ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ วิธีการปลูก การพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ไปจนถึงการแปรรูปจากวัตถุดิบยางในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการกำหนดประเด็นวิจัยเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศได้อย่างสมดุลและยั่งยืนนั้น จะต้องบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคผู้ปลูกยาง กยท. จึงได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดโจทย์วิจัยเพื่อรับข้อเสนอโครงการวิจัยเกี่ยวกับยางพารา ประจำปี 2568 เพื่อรวบรวมปัญหาและสถานการณ์ยางพาราในปัจจุบัน จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงจรห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มาวิเคราะห์ความต้องการและสภาพปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน และความต้องการที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต จัดลำดับความสำคัญของโจทย์การวิจัย และกำหนดแนวทางในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นทุนสำหรับการศึกษาวิจัย อันจะขยายผลต่อยอดสู่การนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
ในอนาคตต่อไป
 
นายโกศล กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. จัดโครงการกำหนดโจทย์วิจัยเกี่ยวกับยางพาราขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้ที่นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และผู้ผลิตงานศึกษาวิจัย ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการยางพาราไทย อีกทั้งยังทำให้ กยท. จัดสรรงบประมาณสำหรับงานวิจัยยางพาราได้อย่างเหมาะสม และสามารถวางแผนนำงานวิจัยในประเด็นต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้สูงสุดในทุกภาคส่วนในอนาคต
 
"กยท. พร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวบรวมสภาพปัญหา
ในปัจจุบัน และความต้องการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต มาพิจารณากำหนดโจทย์การทำวิจัยของ กยท. เพื่อให้การวิจัยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
นายโกศล กล่าวทิ้งท้าย
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
« Back