ทีมนักวิจัย กยท. เยือนจีน ต่อยอดความร่วมมือเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อยางพารา ลุยงานวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตต้นยาง

          เมื่อเร็วๆ นี้ (26-27 มี.ค. 67) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ส่งทีมนักวิจัยร่วมอบรม การปรับสภาพพืชภายใต้โรงเรือน ตามคำเชิญของกับบริษัท Deroose Plants NV ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการต่อยอด MOU โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ การวิจัยและพัฒนา การผลิตและการนำไปใช้ประโยชน์ต้นยางพาราเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในประเทศไทย มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพ-ขีดความสามารถในการผลิตต้นยางพาราที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
         การฝึกอบรมครั้งนี้ เป็นการพัฒนาศักยภาพให้กับทีมนักวิจัย กยท. ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปรับสภาพพืชที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก่อนนำออกปลูก โดยทีมนักวิจัยได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ และโรงเรือนอนุบาลพืช บริษัท DP-Deroose Plants (CN); Shanghai Flower Port Deroose Plant Co., LTD ซึ่งได้ศึกษาและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในการปรับสภาพพืชภายหลังจาก การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากห้องปฏิบัติการ (Laboratory) สู่โรงเรือนอนุบาล (Greenhouse) โดยได้ลงมือย้ายต้นยางพาราจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อออกปลูกลงภาชนะเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายต่อต้นอ่อนพืช และศึกษาเทคนิคกระบวนการปรับสภาพเพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของพืช นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังได้เดินทางไป บริษัท Exotic Plant Shanghai Co.,LTD (บริษัทในเครือ Deroose Plants) เพื่อเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการการตัดเลี้ยงเนื้อเยื่อและโรงเรือนการปรับสภาพ โดยได้ศึกษาการอนุบาลพืชหลังการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พร้อมปฏิบัติการจำแนกขนาดและย้ายพืชชนิดอื่นๆ ลงในกระบะเพาะเลี้ยง
         อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อยางพาราของบริษัท Deroose Plants พบว่าสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับต้นยาง อีกทั้งยังเพิ่มปริมาณผลผลิตในระยะเวลาอันรวดเร็วและได้ต้นยางที่มีคุณภาพ ซึ่งจะพัฒนาศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมการผลิตยางพาราและช่วยยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางให้ดียิ่งขึ้น โดยในอนาคต กยท. จะนำเข้าต้นอ่อนยางพาราเพื่อทำการวิจัยและทดลองปลูกในประเทศไทย เพื่อศึกษาผลของการเจริญเติบโตของต้นยาง และศักยภาพของต้นยางพาราที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เปรียบเที่ยบกับต้นยางที่ได้จากการติดตาต่อไป
 
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
« Back