จับมาแลก! กยท. ทุ่มงบ 50 ลบ. จ่ายค่าหัวปลาหมอคางดำ 15 บ./กก. ส่งผลิตเป็นปุ๋ยหมัก - น้ำหมักชีวภาพเพื่อการเกษตร

          การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทุ่มงบประมาณ กยท. มาตรา 13 เพื่อการดำเนินธุรกิจฯ วงเงินรวม 50 ล้านบาท เตรียมจ่ายค่าหัวปลาหมอคางดำ กก.ละ 15 บาท. ส่งผลิตเป็นปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ในการเกษตร มุ่งลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรควบคู่การกำจัดปลาหมอคางดำศัตรูทำลายระบบนิเวศ
          นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญ และรับทราบปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ จึงเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร โดยที่ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 67 ได้มีมติให้ดำเนินมาตรการระยะเร่งด่วน คือการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่มีการระบาด ทั้งนี้ กยท. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สามารถช่วยกำจัดปลาหมอคางดำซึ่งเป็นปลาที่ทำลายระบบนิเวศน์ได้ จึงเตรียมรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ในการเกษตร โดยใช้เงินงบประมาณ กยท. มาตรา 13 สำหรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของ กยท. ภายใต้โครงการจำหน่ายปัจจัยการผลิต แผนปฏิบัติการดำเนินงานด้านธุรกิจ ซึ่งคณะกรรมการ กยท. มีมติเห็นชอบและให้ดำเนินการตามแผนธุรกิจของ กยท. ไว้แล้วเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 เบื้องต้นจะใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท โดยตั้งราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท คาดว่าสามารถรับซื้อปลาหมอคางดำได้ประมาณ 2,000,000 กิโลกรัม และนำไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพได้ 2 ล้านลิตร ทั้งนี้ ได้ศึกษาค้นคว้าแล้วว่า มีงานวิจัยทั้งในประเทศและข้อมูลจากต่างประเทศที่นำเอาปลาไปหมักเป็นอะมิโนจากปลา เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยน้ำได้
          นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้น กยท. ได้ดำเนินการบูรณาการกับกรมประมงจัดหาผู้ประกอบการด้านการประมงที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง เพื่อเป็นผู้รับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกรหรือประชาชนที่จับมาขาย โดยกรมประมงจะจัดจุดรับซื้อในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาด ก่อนส่งปลาหมอคางดำ ที่รับซื้อไว้ไปให้โรงงานในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ดำเนินการผลิตเป็นปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพต่อไป ซึ่ง กยท. จะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปวางจำหน่ายตามหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่ราคาลิตรละ 100 บาท
           "ตอนนี้น้ำหมักชีวภาพที่จำหน่ายในท้องตลาด มีราคาประมาณลิตรละ 200 บาท ดังนั้น ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากปลาหมอคางดำ จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร สามารถนำไปใช้ในสวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้และพืชอื่นๆ ได้” รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย
           ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ สามารถปรับปรุงส่วนประกอบของดินให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดินซึ่งสามารถช่วยปรับปรุงบำรุงดินที่เสื่อมโทรมให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น การใช้ปุ๋ยหมักเป็นแนวทางหนึ่งที่เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และสามารถปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพ เคมี และชีวภาพของดิน อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาของการระบาดของปลาหมอคางดำได้อีกด้วย
 
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
« Back