วันนี้ (1 ส.ค. 67) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สังกัดกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งมีนายณรงศักดิ์ ใจสมุทร รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมการกำจัดปลาหมอคางดำ การสาธิตแปรรูปอาหารจากปลาหมอคางดำ และการสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ณ พื้นที่บริเวณคลองเกาะโพธิ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ด้าน กยท. เผย พร้อมเดินหน้ารับซื้อปลาหมอคางดำแล้ววันนี้ คาดการณ์เบื้องต้นสามารถรับซื้อปลาหมอคางดำได้กว่า 570,000 กก./เดือน เตรียมนำแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูงส่งต่อชาวสวนยาง
นายอรรถกร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ 2567-2570 ประกอบด้วย 7 มาตรการ ดังนี้ 1. ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 2. กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ 3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ 4. สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน 5. สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัด 6. พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านประมง และ 7. ฟื้นฟูระบบนิเวศ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอเพื่อแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ โดยใช้กรอบงบประมาณ 450 ล้านบาท โดยกิจกรรมในวันนี้ ถือเป็น 1 ในมาตรการเร่งด่วน คือ การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวประมงในพื้นที่เร่งกำจัดออก โดยเฉพาะในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อลดปริมาณของปลาหมอคางดำที่ระบาดให้ได้มากที่สุด คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการกำจัด และจะดำเนินมาตรการอื่นๆ ตามลำดับ อีกทั้งกรมประมงยังได้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในการนำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาได้ไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ และการยางแห่งประเทศไทย สนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาท ในการรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่พบการระบาดทุกแห่ง 16 จังหวัด รวม 75 จุด พร้อมยืนยันว่างบดังกล่าวของ กยท. นั้น เป็นงบคนละส่วนกับเงินกองทุนในการช่วยเหลือสมาชิกชาวสวนยาง จึงไม่ส่งผลกระทบอย่างแน่นอน และงบ 450 ล้านบาทที่ ครม. อนุมัติ จะใช้ดำเนินการใน 7 มาตรการกำจัดปลาหมอคางดำต่อไป ในส่วนของการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ ได้มอบหมายให้กรมประมงเร่งสำรวจเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน
นายณรงศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ กยท. เริ่มรับซื้อปลาหมอคางดำจากจุดรวบรวมแพปลาที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการด้านประมง และสหกรณ์ด้านประมง โดยคาดการณ์ว่าปริมาณการรับซื้อปลาหมอจากจุดรับซื้อทั้งหมด 75 จุด ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจะมีปริมาณรวมกว่า 570,000 กิโลกรัม/เดือน คิดเป็นเงินที่ กยท. จะรับซื้อประมาณ 8.55 ล้านบาท โดยในวันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งหมด ระยะเวลาการรับซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 ส.ค. 67 จากนั้น กยท. จะประเมินโครงการ หากพบว่ายังมีการแพร่ระบาดหนักก็จะขยายระยะเวลาเพิ่มเติม สำหรับปลาที่ได้จากจุดรวบรวมจะถูกส่งไปให้กับหมอดินอาสาและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานเข้ามาช่วยควบคุมมาตรฐานตามหลักวิชาการในการผลิตน้ำหมัก จึงมั่นใจได้ว่าสามารถนำน้ำหมักชีวภาพไปใช้เพื่อการเกษตรได้ ทั้งนี้ ในกระบวนการรับซื้อและรวบรวมวัตถุดิบจนถึงการผลิตน้ำหมักชีวภาพ กยท. ดำเนินงานโดยใช้งบประมาณ มาตรา 13 พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย ปี 2558 สำหรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ในวงเงิน 50 ล้านบาท ภายใต้โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเร่งแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
"เมื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพเสร็จเรียบร้อย กยท. จะนำน้ำหมักชีวภาพไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรชาวสวนยางนำไปใช้ในสวนยาง เพื่อเป็นการเพิ่มธาตุอาหารรองและจุลธาตุ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ต้นยางเจริญเติบโต ส่งเสริมการสร้างน้ำยาง และสร้างความต้านทานต่อการเกิดโรคใบร่วงในต้นยางพารา นำไปสู่ผลผลิตที่สูงและช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.