วันนี้ (18 พ.ย. 67) ณ โรงแรมสยามแกรนด์ จ.อุดรธานี การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) Kick Off โครงการชะลอการขายยาง ปีงบฯ 68 มั่นใจช่วยดูดซับปริมาณยางในตลาด สร้างเสถียรภาพราคายาง พร้อมเสริมสภาพคล่องทางการเงินชาวสวนยางช่วงรอขายผลผลิต โดยมี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรฯ เป็นประธานเปิดงาน ย้ำ เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดโครงการชะลอการขายยาง ปีงบประมาณ 2568 ว่า โครงการชะลอยาง ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยควบคุมปริมาณผลผลิตยางพาราที่เข้าสู่ตลาดให้เหมาะสมกับการใช้ยาง เพื่อลดความผันผวนด้านราคา ทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพ เป็นการช่วยเหลือและเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในระหว่าง รอการขายผลผลิต ให้สามารถขายผลผลิตยางของตัวเองในช่วงที่ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมและพอใจ ไม่จำเป็นต้องรีบจำหน่ายผลผลิต เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้และ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของเกษตรกร สถาบันเกษตรชาวสวนยางให้ความเข้มแข็ง
"การ Kick Off โครงการชะลอการขายยาง ประจำปี 2568 ในครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่กิจกรรม ที่ กยท. ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้เกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ให้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มมากขึ้น เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการ มีส่วนร่วมในการจัดการผลผลิตยาง เพื่อการสร้างเสถียรภาพด้านราคาในระบบตลาดได้อย่างยั่งยืน รมว.เกษตรฯ กล่าวย้ำ
ด้าน นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. ให้ความสำคัญกับการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้นในทุกๆด้าน ซึ่งการสร้างเสถียรภาพของราคายาง เป็นอีกสิ่งสำคัญที่สามารถกำหนดรายได้ของผู้ประกอบอาชีพการทำสวนยาง ดังนั้น โครงการชะลอการขายยางที่ กยท. ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง และมุ่งขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะเป็นการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมในโครงการฯ โดย กยท. จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนใช้ระหว่างรอการจำหน่ายผลผลิต ร้อยละ 80 ของ มูลค่ายางที่สถาบันเกษตรกรฯ รวบรวมและจัดเก็บ โดยผลผลิตยางพาราที่ กยท. รับเข้าโครงการฯ จะถูกจัดเก็บในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อยืดอายุและรักษาคุณภาพระหว่างรอจำหน่าย ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างอำนาจการต่อรอง นำไปสู่ความมั่นคงทางรายได้ และอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการชะลอยาง คือ สามารถดูดซับปริมาณผลผลิตยางที่จะเข้าสู่ระบบตลาดในช่วงที่มีผลผลิตมากเกินปริมาณความต้องการ เป็นการบริหารปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สร้างเสถียรภาพราคายาง ตลอดจนผลักดันทิศทางราคายางให้ดีขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. ขับเคลื่อนโครงการฯ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 โดยนำร่องในพื้นที่ภาคเหนือ ได้รับความพึงพอใจจากเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก นำไปสู่การขยายผลการดำเนินงานโครงการฯ ในพื้นที่อื่น ซึ่งผลการดำเนินงานตั้งแต่ปีงบฯ 2564 - 2567 สร้างมูลค่าส่วนต่างราคายางเพิ่มขึ้น 5.43 บาท/กก. คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 441.16 ล้านบาท ซึ่งในปีงบฯ 2567 สามารถสร้างส่วนต่างขึ้นไปได้ สูงถึง 6.10 บาท/กก. โดยในปีงบฯ 2568 นี้ กยท. ยังเดินหน้าสานต่อโครงการชะลอการขายยาง โดยคณะกรรมการ กยท. ได้อนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการฯ แล้ว เป็นจำนวน 800 ล้านบาท และหากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้ความสนใจโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก คณะกรรมการ กยท. พร้อมขยายวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ กยท. ทุกแห่งทั่วประเทศใช้ดำเนินโครงการฯ ได้อย่างเต็มรูปแบบ
"การดำเนินงานนี้เป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง และ กยท. จะยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการและมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยเหลือและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป" นายสุขทัศน์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ภายในงานนี้ ได้มีการมอบเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 5 กลุ่ม และเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 3 ราย รวมถึงการมอบโฉนดเพื่อการเกษตรให้แก่ตัวแทนเกษตรกร จำนวน 30 ราย เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันให้แก่เกษตรกรอีกด้วย