กยท. จัดกิจกรรม CSR สร้างฝายยางชะลอ - กักเก็บน้ำแก่ชุมชนชาวลาหู่ มุ่งใช้ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมยาง เพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคม

       วันนี้ (22 พ.ค. 2561) การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) นำโดย คณะอนุกรรมการ CSR ของ กยท. ผู้บริหาร และพนักงาน ลงพื้นที่ชุมชนชาวเขาเผ่าลาหู่ ณ บ้านห้วยหก ต.ศรีถ้อย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย จัดกิจกรรม CSR สร้างฝายยางชะลอน้ำ – กักเก็บน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเกษตร มุ่งใช้ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมจากยางพาราเพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สังคม
        นายเสนีย์ จิตตเกษม กรรมการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานอนุกรรมการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของ กยท. เผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการเกี่ยวกับยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยในปีนี้ได้จัดโครงการนวัตกรรมยางพาราเพื่อสังคม ซึ่งมุ่งเน้นการร่วมแก้ปัญหาในพื้นที่ชุมชน และช่วยเหลือสังคม โดยการใช้ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมจากยางพาราเพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อาศัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรอบชุมชนเหล่านั้น สำหรับกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำจากล้อยาง มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำของชุมชนชาวลาหู่(มูเซอ) ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในฤดูแล้ง หรือในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ระบบประปาภูเขาขัดข้อง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศด้วย
        นายเสนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมสร้างฝายในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากบริษัท สยามมิชลิน จำกัด สนับสนุนล้อยางรถยนต์เป็นวัสดุหลักในการสร้างฝาย และ กยท. ได้สนับสนุนแผ่นยาง ขนาด 1.4x4 ม. หนา 5 มม. จำนวน 1 แผ่น ซึ่งมีส่วนประกอบของยางธรรมชาติ(ยางแผ่นรมควันชั้น 3) จำนวน 18 กก. ใช้ในการยึดติดกับล้อยางที่เชื่อมด้วยสลิง เพื่อช่วยกักน้ำไม่ให้ไหลผ่านช่องว่างของล้อยาง ซึ่งนวัตกรรมฝ่ายชะลอน้ำจากล้อยางได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย จึงถือเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา ตลอดจนผู้อาศัยในชุมชนที่มาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างฝายแห่งนี้ขึ้น นอกจากนี้ กยท. ได้นำผ้าห่มมามอบให้ชาวบ้านในชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 72 หลังคาเรือน
        นายคณาธิป ทะจันทร์ ครูชำนาญการ วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย ผู้คิดค้นการทำฝายชะลอน้ำด้วยล้อยาง กล่าวว่า การสร้างฝายยางพาราด้วยล้อยางแบบเคลื่อนย้ายได้มีข้อดีกว่าฝ่ายแบบถาวรที่สร้างจากวัดสุอื่นเช่น การเทปูนซีเมนต์หรือใช้ถุงทราย เพราะยางพารามีความยืดหยุ่นและคงทน สามารถปรับใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละฤดูกาล ช่วงฤดูน้ำหลากลงมา ล้อยางแต่ละล้อที่ถูกเชื่อมติดกันด้วยลวดสลิงจะหมุนตามแรงน้ำ ช่วยชะลอความแรงของน้ำได้ ในช่วงฤดูแล้ง แผ่นยางที่ปูทับด้านหน้าฝนังล้อยางจะปิดช่องว่างช่วยขวางน้ำให้ไหนผ่านได้น้อย สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ นอกจากนี้ชาวบ้านยังสามารถยกฝายออกเพื่อชะล้างตะกอนดินทรายที่ไหลมาติดที่ฝาย และติดตั้งใหม่ได้เอง
         นายพิษณุ จะบื่อ ชาวเขาเผ่าลาหู่ที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านห้วยหก กล่าวว่า ที่ผ่านมาหมู่บ้านประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และในช่วงน้ำหลากที่น้ำจากภูเขาจะพัดทรายเข้าไปอุดตันในท่อน้ำประปาภูเขา ทำให้น้ำไม่ไหล ชาวบ้านจึงต้องเดินขึ้นไปรองน้ำจากตาน้ำไปใช้ จึงรู้สึกดีใจมากที่ กยท. เลือกทำฝายในพื้นที่หมู่บ้านห้วยหก เพราะชาวบ้านจะได้รับประโยชน์จากน้ำที่กักเก็บไว้เพื่อนำไปใช้อุปโภคบริโภคต่อไป
 
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์การยางฯ
มัณฑนารัตน์ ศิริประทุม ข่าว/ภาพ
 
 
« Back